แอฟริกาใต้-เอสโตเนียฯ ตอบรับร่วมงาน Thailand Bigbang 2017

by ThaiQuote, 24 มีนาคม 2560

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า จากการเดินทางไปเข้าร่วมการประชุม Global Entrepreneurship Congress (GEC2017) ณ นครโจฮันเนสเบิร์ก สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 13-16 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ได้นำคณะผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมกิจกรรมสำคัญ ๆ อาทิ การหารือทวิภาคีกับ H.E. Dr Siyabonga Cwele รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโทรคมนาคมและบริการไปรษณีย์แห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ณ กรุงพริทอเรีย โดยได้ร่วมหารือเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายและความท้าทายด้านดิจิทัลของทั้งสองประเทศ และมีความเห็นพ้องร่วมกันเกี่ยวกับบทบาทสำคัญของ Cyber security การมีส่วนร่วมของภาคเอกชน การส่งเสริมธุรกิจ SMEs/Startups และบุคลากรด้านดิจิทัลที่มีศักยภาพ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายด้านดิจิทัลรวมทั้งศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดด ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเชื่อมโยงประเทศไทยและแอฟริกาใต้ รวมถึงการเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนและแอฟริกาเพื่อโอกาสและความเจริญรุ่งเรืองของทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะได้มีการดำเนินการจัดทำบันทึกความเข้าใจด้านดิจิทัล เพื่อเป็นกลไกในการสร้างความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างสองประเทศต่อไป                   

ต่อมาได้หารือทวิภาคีกับ H.E. Ms. Lindiwe Zulu รัฐมนตรีว่าการกระทรวง Small Business Development แห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ซึ่งแอฟริกาใต้ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้ประกอบการขนาดเล็กในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้มีการจัดตั้งกระทรวง Small Business Development ขึ้นมาใหม่ทำหน้าที่หลักในการสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เพื่อแก้ปัญหาความยากจน การว่างงาน และความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมทั้งให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมผู้ประกอบการสตรีและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้มีความเท่าเทียมและเข้มแข็งทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม การดำเนินงานของกระทรวง Small Business Development สอดคล้องกับนโยบายของประเทศไทยในการสนับสนุนผู้ประกอบการของไทยที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ SMEs และจำนวนมาก เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก ซึ่งเป็นผู้เล่นสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย

รวมทั้งได้ร่วมเป็นวิทยากรในหัวข้อ “Enabling Digital Disruption” ในระหว่างการประชุม Global Entrepreneurship Congress (GEC 2017) เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560 ณ ศูนย์การประชุม Sandton Convention Center นครโจฮันเนสเบิร์ก ซึ่งได้อภิปรายถึงแนวทางที่ประเทศไทยกำลังผลักดันเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมอันเนื่องมาจาก Digital Disruption โดยได้ยกตัวอย่างการดำเนินนโยบายของรัฐบาลไทย เช่น การขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนในชนบทสามารถเข้าถึงระบบ E-health และสร้างรายได้ด้วยการค้าขายผ่าน E-commerce ซึ่งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัลระหว่างประชาชนในเมืองและชนบทได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการลดกฎระเบียบ (Deregulation) เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ฯลฯ                    

สำหรับการหารือกับ Mr.Viljar Lubi ตำแหน่ง Deputy Secretary General for Economic Development กระทรวงเศรษฐกิจและการสื่อสาร แห่งสาธารณรัฐเอสโตเนีย พบว่าสาธารณรัฐเอสโตเนียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเทคโนโลยีดิจิทัลก้าวหน้าที่สุดในโลก โดยเฉพาะในด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และด้วยนโยบาย “e-Estonia” ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการภาครัฐ หรือการทำธุรกรรมกับภาครัฐเกือบทั้งหมดผ่านทางระบบดิจิทัล และรัฐบาลเอสโตเนียได้ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการและธุรกิจ Startup อย่างกว้างขวาง

โดยในปัจจุบัน World Economic forum (WEF) ได้ประกาศให้สาธารณรัฐเอสโตเนียเป็นประเทศที่มีความสำเร็จของผู้ประกอบการเป็นอันดับหนึ่งของยุโรป (Europe's most entrepreneurial country) และในเดือนพฤศจิกายน 2560 นี้ เอสโตเนียจะจัดงาน Startup Nation Summit โดยมีกลุ่มธุรกิจ Startup และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากหลายประเทศเข้าร่วมงานดังกล่าว เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในการดำเนินธุรกิจ ประสบการณ์ในการก้าวข้ามความท้าทาย และจะได้ร่วมกันจัดทำคู่มือ (Recommendation) ที่เป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมธุรกิจ Startup รวมทั้งจะมีการสร้างเครือข่ายของ Startup ในระดับนานาประเทศ และได้ขอเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของไทยเข้าร่วมงานดังกล่าว                    

ปัจจุบันเอสโตเนียได้เล็งเห็นถึงศักยภาพและมีนโยบายในการสร้างความร่วมมือในด้านต่าง ๆ รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัลกับประเทศในภูมิภาคตะวันออก โดยในระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม 2560 สาธารณรัฐเอสโตเนียจะทำหน้าที่เป็นประธานในสภาแห่งสหภาพยุโรป (Council of EU) ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้กลุ่มประเทศ EU หันมาสร้างความร่วมมือกับประเทศในตะวันออก รวมถึงไทยมากยิ่งขึ้น ในส่วนของประเทศไทยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อธุรกิจ Startup และมีนโยบายในการส่งเสริมธุรกิจดังกล่าวอย่างจริงจัง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาเรื่อง Regulatory Sandbox เพื่อเป็นสนามให้ธุรกิจ Startup ที่มีไอเดียแปลกใหม่สามารถทดลองดำเนินธุรกิจได้แบบมีข้อจำกัดในด้านต่าง ๆ น้อยที่สุด

โดยกระทรวงดิจิทัลฯ ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางสนับสนุนให้ภาคส่วนต่างๆ พัฒนารูปแบบของ Sandbox ที่เหมาะสมกับตัวเอง เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจ Startup ที่เกี่ยวข้องมากที่สุด นอกจากนี้เอสโตเนียได้แสดงความสนใจในการเข้าร่วมงาน Thailand Bigbang ที่กระทรวงดิจิทัลฯ และกระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีจะร่วมกันจัดขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและธุรกิจ Startup ของประเทศไทย ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2560 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ รวมทั้งประสงค์จะสร้างความร่วมมือในการพัฒนา Regulatory Sandbox กับฝ่ายไทยอีกด้วย                    

ด้านการร่วมหารือกับ Mr.McLean Sibanda ตำแหน่ง CEO ของ The Innovation Hub ณ กรุงพริทอเรีย ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า การพัฒนาด้านนวัตกรรมและการวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D) ภายในประเทศจะช่วยสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนของสังคมและเศรษฐกิจ โดยในการทำ R&D จะต้องมีเป้าหมายเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคเอกชน ดังนั้นมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้ทำการวิจัยและภาคเอกชนจะต้องดำเนินงานให้มีความสอดคล้องและเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ให้การสนับสนุนจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือการปรับเปลี่ยนความคิดของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชนให้เห็นถึงความสำคัญของการลงทุนในด้านการวิจัย ซึ่งจะสามารถสร้างผลิตผลด้านนวัตกรรมที่คุ้มค่าต่อการลงทุนในระยะยาว

ทั้งนี้ไทยและแอฟริกาใต้ควรมีความร่วมมือในรูปแบบหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic partner) ในสาขาต่างๆ โดยอาจมีการจัดทำบันทึกความเข้าใจและการทำการวิจัยในประเด็นที่มีความสนใจร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่าย ซึ่งตามข้อมูลของ WEF สาธารณรัฐแอฟริกาใต้มีความสำเร็จในด้านนวัตกรรมในระดับที่ดี ดังนั้น ความร่วมมือกับสาธารณรัฐแอฟริกาใต้จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งมีการส่งเสริมในด้านนวัตกรรมเป็นอย่างมาก เพื่อการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน อีกทั้งความร่วมมือดังกล่าวสามารถต่อยอดไปสู่ความร่วมมือระหว่างภูมิภาคแอฟริกาและอาเซียนต่อไปในอนาคต                      

สุดท้ายได้หารือกับ Mr.Jonathan Ortmans ตำแหน่ง President of Global Entrepreneurship Network (GEN) และ Mr. Steve Cheah, President of GEN Thailand รวมทั้งได้เป็นประธานในการร่วมหารือของสมาชิก GEN ในภูมิภาคเอเซีย ณ โรงแรม Sandton Sun นครโจฮันเนสเบิร์ก ด้วย โดย GEN ซึ่งเป็นองค์กรระดับนานาชาติในด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการและมีสมาชิกใน 160 ประเทศทั่วโลก ยินดีให้การสนับสนุนการจัดงาน Thailand Bigbang 2017 ที่กระทรวงดิจิทัลฯ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะร่วมกันจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 6 – 9 กรกฎาคม 2560 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ โดยจะมีการสนับสนุนในด้านการจัดทำคู่มือกลยุทธ์สำหรับผู้ประกอบการ (GEN Playbook) การให้คำปรึกษา (Mentorship) และการจัดการแข่งขันสำหรับ Startup

นอกจากนี้ผู้แทน GEN จาก 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา นิวซีแลนด์ อินเดีย รวมถึงไต้หวัน ได้พร้อมใจจะรวมตัวกันในงานฯ ซึ่งจะมี 50 Startups  ชั้นนำ พร้อมทั้ง 20 Mentors มืออาชีพจากกลุ่มประเทศดังกล่าว เข้าร่วมกิจกรรมในงานฯ เพื่อร่วมสนับสนุนธุรกิจ Startup ในไทยและเอเชียด้วย

Tag :