กรมชลประทาน กับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุค Thailand 4.0

by ThaiQuote, 30 มีนาคม 2560

ในห้วงเวลาประมาณ 1 ปี ที่ผ่านมาสมาชิกวารสารข่าวชลประทานคงจะได้ยินคำว่า “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งกำลังเป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน ที่ต่างให้ความสำคัญกับแนวทางการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นจากผลของการเข้าสู่ยุค 4.0 รัฐบาลชุดปัจจุบันที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ให้ความสำคัญและสร้างความตระหนักให้กับทุกภาคส่วนในการช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่ยุค 4.0อย่างสง่างาม มั่นคง และยังยืน ด้วยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “Value-Based Economy” หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เกิดเป็นโมเดลที่จะช่วยพัฒนาประเทศของเรา โดยเปลี่ยนเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม กว่าที่เราจะก้าวมาสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 นั้น ประเทศไทยก็ได้ผ่านยุคเศรษฐกิจมาแล้วถึง 3 ยุค โดยเริ่มจากยุคประเทศไทย 1.0 ที่เน้นด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก ซึ่งคนไทยปลูกข้าว พืชสวน พืชไร่ เลี้ยงหมู เป็ดไก่ นำผลผลิตไปขายเพื่อสร้างรายได้และยังชีพ ต่อมาเข้าสู่ยุคประเทศไทย 2.0 ที่เน้นอุตสาหกรรมเบา เป็นยุคที่มีการนำเครื่องมือต่างๆ เข้ามาช่วยในการผลิตสินค้า เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องประดับ ทำให้ประเทศเริ่มมีศักยภาพมากขึ้น จนพัฒนาเข้าสู่ยุคประเทศไทย 3.0 ที่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมหนักและการส่งออก เช่น รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ โดยใช้ต้นทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพื่อเน้นการส่งออก และยุคปัจจุบันที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวไปอีกขั้นสู่การเป็น “ประเทศไทย 4.0” หลังจากตกอยู่ในยุค 3.0 มาเป็นเวลากว่า 20 ปี ซึ่งจะเป็นยุคแห่งการพัฒนาปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่การเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ที่เน้นเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และภาคบริการ ภายใต้วิสัยทัศน์ มั่นคงมั่งคั่ง และยั่งยืน กรมชลประทานในฐานะหน่วยงานภาครัฐขนาดใหญ่ที่มีภารกิจหลักในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำ และการบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ อันมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อความกินดีอยู่ดีของพี่น้องภาคการเกษตรและสร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำแก่ประเทศไทย ได้ตระหนักถึงความสำคัญและขานรับนโยบายดังกล่าวด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์การทำงานยุค RID 4.0 เพื่อร่วมเป็นกลไกหนึ่งที่จะนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้ประเด็นพันธกิจต่างๆ
โดยเฉพาะการส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรได้แสดงศักยภาพในการคิดค้น ประดิษฐ์นวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างมีอัจฉริยภาพเรื่องราวต่างๆ จะมีความก้าวหน้าไปในทิศทางใด อย่างไรบ้างนั้น ทีมงานวารสารข่าวชลประทานจะเป็นตัวกลางในการนำเสนอให้สมาชิกได้รับทราบ ในฉบับต่อไปนะคะ