“ติดกล้องหน้ารถ” ไม่เข้าเป้า คนไม่อยากจ่ายเพิ่ม-ยุ่งยาก

by ThaiQuote, 23 เมษายน 2560

ดร.นพดล กรรณิกา ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำและสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยว่ามาตรการการติดกล้องหน้ารถที่มูลนิธิเมาไม่ขับและสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันรณรงค์ เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการติดตั้งกล้องหน้ารถแล้วปรับพฤติกรรมการขับขี่บนท้องถนนให้ดีขึ้น พบว่าขณะนี้มีประชาชนผู้ใช้รถติดตั้งกล้องหน้ารถเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ25 แต่จากการสำรวจที่ผ่านมาพบว่ามีประชาชนติดตั้งกล้องหน้ารถเพียงร้อยละ 19.8 เท่านั้น อย่างไรก็ตามยังไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้คือร้อยละ 50 ทั้งนี้จำนวนการติดตั้งกล้องหน้ารถที่เพิ่มขึ้นจะเห็นได้ชัดเจนว่า เป็นเพราะหน่วยงานอื่น ๆ เช่น คปภ.ที่มีการสนับสนุนโดยการลดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจลงกว่าร้อยละ 5-10 แล้วแต่กรณี จึงถือว่าเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ประชาชนหันมาติดกล้องหน้ารถมากขึ้น รวมทั้งการรณรงค์ต่าง ๆ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและการร่วมจับผิดคนที่ฝ่าฝืนกฎหมายจราจร เพื่อลดปัญหาต่าง ๆบนท้องถนนก็เป็นผลให้ประชาชนเริ่มตื่นตัวและให้ความสนใจมากยิ่งขึ้นด้วย อีกทั้งที่ผ่านมาเมื่อมีเหตุเกิดขึ้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศหาหลักฐานจากกล้องหน้ารถของประชาชน จึงทำให้ประชาชนเริ่มเห็นความสำคัญว่ากล้องที่บันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ สามารถช่วยหน่วยงานภาครัฐในการตามตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ดร.นพดล กล่าวต่อว่าสำหรับประชาชนบางส่วนที่ยังไม่ได้มีการติดตั้งกล้องหน้ารถนั้น จากการสำรวจพบว่าปัญหาค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการติดตั้งกล้องอาจจะสูงเกินไปทำให้เป็นภาระของเจ้าของรถ หลายคนจึงรอนโยบายช่วยเหลือจากทางรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไรซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน ดังนั้นหากประชาชนจะติดตั้งกล้องหน้ารถรัฐบาลอาจจะต้องหามาตรการมาสนับสนุน เช่น การลดหย่อนภาษี เป็นต้น จากการสำรวจแล้ว ความพร้อมในเรื่องค่าใช้จ่ายเป็นสาเหตุหลักที่หลายคนยังไม่พร้อมที่จะจ่ายความรู้ความเข้าใจในการติดตั้งกล้องหน้ารถ ซึ่งหลายคนเห็นว่าเป็นเรื่องยุ่งยากและสร้างความเสียหายให้แก่ตัวรถทั้งที่จริง ๆแล้วกล้องหน้ารถมีหลายแบบทั้งแบบที่ต่อเข้ากับตัวสตาร์ทรอและแบบที่เสียบกับตัวต่อเชื่อมจากแบตเตอร์รี่รถยนต์ ส่วนเรื่องความเป็นส่วนตัวนั้นไม่ใช่ประเด็นหลักที่ประชาชนไม่ติดตั้งกล้องหน้ารถ เพราะการบันทึกภาพ เราสามารถตั้งค่าได้ว่าจะเลือกฟังก์ชั่นแบบใด อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาในช่วง 7 วันอันตรายพบว่ามีประชาชนให้ความสนใจนำคลิปมาโพสต์ในช่องทางต่าง ๆที่มูลนิธิเมาไม่ขับและซูเปอร์โพลจัดไว้ให้โดยจากการตรวจสอบพบว่า ส่วนมากคลิปที่ส่งมาจะพบว่ามีการฝ่าฝืนกฎจราจรโดยเฉพาะการฝ่าสัญญาณไฟจราจรมากที่สุด และการเบียดปาดและแซงกะทันหัน ซึ่งเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการคัดกรองเพื่อจะมอบรางวัลให้แก่เจ้าของคลิปที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่และคลิปที่มีพฤติกรรมดี

Tag :