ฉลาดเกมส์โกง.. “ตอบโจทย์” ประเทศไทย ???

by ThaiQuote, 16 พฤษภาคม 2560

ฉลาดเกมส์โกง อาจเป็นเพียงหนังที่สะท้อนความต้องการของเด็กรุ่นใหม่มาใส่ไอเดียผสมผสานจนกลายเป็นหนังทำเงิน เป็น 2 ชั่วโมงแห่งความเพลิดเพลินที่กว่าจะเป็นผลงานออกสู่สายตาผู้ชมไม่ใช่เรื่องง่ายนักโดยเฉพาะกับบทภาพยนตร์ เพราะมีรายละเอียดมากมายที่ต้องขบ ต้องคิดในรายละเอียด

“ดูหนังดูละคร แล้วลองย้อนมองดูตน” ภาพที่ถูกฉายลงบนแผ่นฟิล์มชวนให้ต้องขบคิดจากสังคมการเดินเรื่องจากกรณี “โกงสนามสอบ” ที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าต่อเนื่องจนเป็นข่าวดังระดับประเทศมาแล้ว แต่ในท้ายที่สุดกลับเป็นเพียงคลื่นกระทบฝั่ง จบแล้วก็เงียบห่างหายไป ก่อนจะเกิดการโกงครั้งใหม่เกิดขึ้น จนดูราวกับว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในสังคมไทย 

ฉลาดเกมส์โกงจึงเป็นเพียงหนังตัวอย่างที่สะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นในสังคม ที่หยิบเอาเรื่องของนักเรียนทุนเจ้าของเกรดเฉลี่ย 4.00 ทุกปีการศึกษา  อย่าง ''ลิน'' ที่ต้องการช่วยเพื่อนสนิทอย่าง ''เกรซ'' เด็กกิจกรรมแต่ผลการเรียนย่ำแย่ และ ''พัฒน์'' เด็กที่บ้านรวยและคิดว่าเงินซื้อได้ทุกอย่าง ยินดีจ่ายค่าตอบแทนแบบสูงลิบ  เพื่อแลกกับการได้รับคำตอบจากเด็กอัจฉริยะอย่างลิน  ธุรกิจเกมส์โกงข้อสอบจึงเริ่มต้นจากหลักหมื่นเป็นหลักแสน และมีเป้าหมายสู่หลักล้าน ซึ่งคนจ่ายยินดีจ่ายเพิ่มเพื่อโกงข้อสอบเข้าสู่โรงเรียนที่ดีที่สุดในโลก

เสียงสะท้อนจากคนที่ได้ดูหนังต่างบอกเป็นเสียงเดียวว่า สนุก...มันส์! และอีกเสียงสะท้อนหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นอย่างเงียบ ๆคือนี่เป็นเกมส์สะท้อนความจริงที่น่าหวาดหวั่นอย่างที่สุด

สะท้อนความจริงในแง่ที่ว่าเด็กยุคนี้กำลังถูกฟูมฟักให้เข้าใจว่า การสอบได้เกรดเฉลี่ยดี ๆหรือการเข้าเรียนในโรงเรียนมีชื่อเสียงคือความสำเร็จ จึงทำทุกวิถีทางเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายโดยไม่สนใจว่าวิธีการจะถูกหรือผิด เพียงแค่ตอบสนองความต้องการของพ่อแม่ ทำตามที่พ่อแม่ต้องการ เพราะกลัวพ่อแม่ผิดหวัง กลัวพ่อแม่เสียใจ 

สำหรับพ่อแม่ที่เคยประสบความสำเร็จในด้านการเรียนและการทำงาน ย่อมต้องการถ่ายทอดสิ่งดี ๆเหล่านี้สู่ตัวลูก โดยวางกรอบการเลี้ยงดูให้เป็นไปตามที่ตนเองกำหนด ซึ่งหากลูกยอมรับวิธีการดังกล่าวก็ถือเป็นเรื่องดี กระนั้นก็ตามหากลูกไม่สามารถเรียนได้ดีตามความต้องการของพ่อแม่อาจใช้วิธีแบบในหนังพาตัวเองไปสู่เป้าหมายตามที่พ่อแม่ต้องการ โดยเก็บความต้องการแท้จริงของตัวเองไว้ภายในกลายเป็นความเครียด สับสน สุดท้ายทางออกจะเป็นอย่างไรได้มีตัวอย่างให้เห็นอยู่เป็นประจำ ในทางกลับกันหากลูกมองว่ากรอบที่พ่อแม่วางไว้คือการบีบบังคับอาจเกิดเป็นความเก็บกด และกลายเป็นปัญหาสังคมในภายหลัง

เช่นเดียวกับระบบการศึกษาที่สร้างค่านิยมการเรียนแบบเกินพอดี กวดวิชาจนไม่มีเวลาพักผ่อน  เพียงเพื่อหวังสอบเข้าไปเรียนในสถาบันที่ได้รับการยอมรับ ยอมแม้กระทั่งการควักเงินจ่ายแป๊ะเจี๊ยะหลาย ๆแสน

หนัง ‘ฉลาดเกมส์โกง’ อาจไม่ได้สะท้อนภาพรวมทั้งหมดของระบบครอบครัวและการศึกษาไทย แต่หลายจุดในหนังเรื่องนี้คือกระจกสะท้อนชวนให้คิดว่า ถึงเวลาหรือยังที่เราจะหันมาอยู่กับความเป็นจริง เข้าใจในบริบทการเลี้ยงดู ปรับปรุงมาตรฐานการศึกษา ให้มีความเชื่อมั่นว่าไม่ว่าจะจบจากที่ใดก็มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน เข้าใจในความหมายของชีวิตโดยไม่มองว่า ‘สถาบันการศึกษา หรือ สนามสอบ’ คือทุกอย่างของชีวิต!!!

ขอบคุณภาพจาก Facebook/ChalardGamesGoeng

Tag :