วางแผน “เที่ยว” อย่างไรให้ดีต่อใจและเงินในกระเป๋า

by ThaiQuote, 28 พฤษภาคม 2560

เรื่องเที่ยวสมัยนี้กลายเป็นหนึ่งในงานอดิเรกยอดฮิตไปแล้ว ถึงขั้นที่มีการสำรวจผู้คนวัยหนุ่มสาวที่ประเทศจีน อังกฤษ และสหรัฐอเมริกาจำนวนหลายหมื่นคน ได้ผลปรากฏออกมาว่ายินดีที่จะใช้เงินเพื่อซื้อประสบการณ์จากการท่องเที่ยวสูงติด 3 อันดับแรกของเป้าหมายในชีวิต  แต่คำถามคือเราควรจะวางแผนเที่ยวอย่างไรให้ดีต่อใจและเงินในกระเป๋า

3 สิ่งที่นักเที่ยว (หมายถึงคนที่ชอบท่องเที่ยว อย่าแปลความเป็นอื่นสิ) ต้องคำนึงถึง ได้แก่ งาน เงิน และเวลา

งาน  ปัญหาอันดับแรกที่คนชอบเที่ยวทุกคนต้องเจอคือการจัดสรรงานในชีวิต หลายคนมีเงินพอจะไปเที่ยวได้ มีเวลาจะไปเที่ยวได้ แต่งานที่มีกลับทิ้งไปไม่ได้เสียอย่างนั้น เรียกได้ว่ามีวันลาแต่ในทางปฏิบัติก็ลาไม่ได้อยู่ดี

สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ อย่ารวมภาระความรับผิดชอบไว้ที่ตัวเอง ไม่ว่าวันนี้จะทำงานเป็นพนักงานเงินเดือนหรือเจ้าของกิจการก็ตาม สิ่งที่ต้องทำคือการกระจายอำนาจ และพยายามทำให้คนอื่นทำงานส่วนของเราแทนได้ การจดบันทึกรายละเอียดงานและข้อมูลในการตัดสินใจเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้เราเที่ยวได้อย่างสบายใจ คนที่มารับหน้างานแทนก็มีแหล่งอ้างอิงในการทำงาน ยิ่งถ้ามอบอำนาจในการตัดสินใจให้เพื่อนร่วมงานในขอบเขตที่เหมาะสมแล้ว การเที่ยวของเราก็จะสงบสุขมากขึ้น คราวนี้ก็จะได้ใช้วันลาอย่างสบายใจเสียที

เงิน  เรื่องนี้เป็นปัญหาหลักของหลายคน เรื่องของการจัดสรรการเงินเพื่อการท่องเที่ยว เนื่องจากรายจ่ายด้านการเที่ยวมักจะไม่ค่อยสม่ำเสมอ ผันไปตามทริปที่จัดและเวลาที่ไป แถมเที่ยวแต่ละครั้งมักจะใช้เงินมากเมื่อเทียบกับการใช้เงินในชีวิตประจำวันทั่วไป จึงทำให้เกิดคำถามว่าจะจัดส่วนเงินเพื่อการท่องเที่ยวอย่างไรดี 

ขอแนะนำให้ลองวางแผนเที่ยวแบบนี้… ลองหักเก็บเงินสะสมแต่ละเดือนเพื่อท่องเที่ยว แยกไว้เลย โดยเราสามารถตั้งเป้าไว้ได้เลยว่าเรามีงบให้การท่องเที่ยวเป็นอัตราส่วนเท่าไหร่ของรายได้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการบริหารเงินมาก เพราะการควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้บานปลายจะทำได้ดี อย่างเช่น กำหนดเลยว่างบสำหรับท่องเที่ยวอยู่ที่ 10 % ของรายได้ แบบนี้เมื่อมีเงินเดือนเข้ามาก็สามารถหักแยกบัญชีไว้ได้เลย เมื่อถึงเวลาจะรู้ได้เลยว่าเรามีงบสำหรับท่องเที่ยวได้เท่าไหร่ ทำให้ง่ายต่อการวางแผน

ช่วงไหนเที่ยวบ่อยอาจมีงบในแต่ละทริปลดลง แต่ถ้าช่วงไหนเที่ยวน้อยก็จะมีงบในแต่ละทริปมากขึ้น ซึ่งถ้ามองให้ดีก็จะมีความสนุกในการวางแผนเที่ยวมากขึ้นไปอีกขั้น เพราะเราจะต้องคิดว่ามีเงินเท่านี้ไปเที่ยวไหนได้บ้าง จองที่พักอย่างไร วางแผนเที่ยวอย่างไรให้เงินเพียงพอ แถมเราก็ใช้จ่ายได้โดยมั่นใจอีกว่าจะไม่เกินงบรวมตามที่เราวางแผนเที่ยวไว้ แบบนี้ดีต่อเงินในกระเป๋าแน่นอน

เวลา  ปัญหาสำคัญอีกอย่างของการเที่ยวคือไม่มีเวลาเที่ยว ทริปหนึ่งที่อยากไปอาจใช้เวลาไม่ต่ำกว่า3 วัน 5 วัน แต่ปีหนึ่งมีวันลาพักร้อนอยู่เท่าหยิบมือ คิดหลายตลบก็แทบจะหาโอกาสไปเที่ยวยาว ๆ ไม่ได้เลย เทคนิคคือต้องหาโอกาสลาหยุดให้น้อยแต่ได้วันหยุดที่มาก  ง่ายที่สุดคือการลาหยุดเพิ่มช่วงวันหยุดยาว เช่นวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่หยุดวันอังคารหรือพฤหัสบดี แบบนี้ลาวันจันทร์หรือวันศุกร์เพิ่มก็จะได้วันเที่ยวยาวถึง 4วันรวด อีกอย่างหนึ่งที่น่าทำคือการทำงานในวันหยุดเพื่อแลกกับวันหยุดในวันธรรมดา หลายครั้งมีงานที่ต้องไปทำในวันหยุด เช่น ไปจัดนิทรรศการ หรือประชุมงานพิเศษ แน่นอนว่าถ้าเป็นงานกึ่งสมัครใจ ส่วนใหญ่ก็จะขอต่อรองขอวันหยุดในวันธรรมดาชดเชยได้ ซึ่งโอกาสแบบนี้ก็จะช่วยให้ได้วันหยุดที่ไม่ตรงกับวันหยุดยาวเทศกาลซึ่งอาจจะทำให้เที่ยวได้อารมณ์ไปอีกแบบ

ในกรณีของงานที่ทำเป็นงานที่ไม่มีเวลาตายตัว เช่น งานที่ต้องเข้ากะหรืออยู่เวร หรืองานที่ทำเป็นช่วงเวลาแล้วหยุดพักสลับกัน งานแบบนี้จะเรียกว่าวางแผนยากก็ยาก วางแผนง่ายก็ง่าย เพราะโดยธรรมชาติของงานจะมีโอกาสสูงที่ต้องมาทำงานในวันที่คนอื่นหยุด แต่ได้หยุดในวันที่คนอื่นทำงาน งานแบบนี้หากแลกเวรหรือสลับตารางงานให้ดีก็มีโอกาสเที่ยวยาวได้ในช่วงวันธรรมดาซึ่งหลายครั้งเรียกว่าเป็นสวรรค์ของการท่องเที่ยวเลย เพราะจะทำให้ไม่ต้องแย่งกันกินแย่งกันใช้ ซึมซับบรรยากาศสบาย ๆ ได้ความรู้สึกไปอีกแบบ

สรุปง่าย ๆ กับ 3 สิ่งที่คนชอบเที่ยวต้องจัดการให้ได้

เรื่องงานต้องกระจายงานและอำนาจการตัดสินใจให้คนอื่นรู้และทำแทนได้ตอนเราไม่อยู่ เรื่องเงินต้องวางแผนสัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อการเที่ยวอย่างเหมาะสมเพื่อให้งบไม่บานปลาย และสุดท้าย เรื่องเวลาต้องจัดสรรตามสภาพงาน โดยดึงเอาลักษณะเฉพาะของงานเรามาเป็นประโยชน์ในการวางแผนเที่ยว

สุดท้ายแล้วทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นระบบระเบียบมากขึ้น เมื่อคิดและวางแผนมากขึ้นอีกสักหน่อย อย่างน้อยหากแบ่งบัญชีกันชัดเจนแล้วก็คงไม่เกิดปัญหาไปเที่ยวแบบใช้ชีวิตสุดหรูแล้วกลับมาต้องนั่งซดมาม่าทุกที

ข้อมูลจาก AomMoney.com

Tag :