“โรคอ้วน” ระบาดหนักทั่วเอเชีย

by ThaiQuote, 12 มิถุนายน 2560

          ผลศึกษาของสถาบันธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบีไอ) ระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้ออาหารได้ราคาถูกลง และทำให้มีการบริโภคมากเกินไป และมีน้ำหนัก เกินเกณฑ์ โดยเอดีบีไอ กำหนดว่าภาวะ น้ำหนักเกินเกณฑ์คือผู้ที่มีดัชนีมวลร่างกาย (บีเอ็มไอ) อยู่ที่ 25 และภาวะโรคอ้วนคือ ผู้มีดัชนีบีเอ็มไออยู่ที่ 30

ขณะเดียวกันผลการศึกษาของเอดีบีไอ ระบุด้วยว่าปัญหาดังกล่าวเข้าสู่ระดับ "แพร่ระบาด" แล้ว และส่งผล ให้ภูมิภาคต้องใช้งบแก้ปัญหานี้รวมทั้งสิ้นราว 166,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 5.46 ล้านล้านบาท) ต่อปี หรือราว 0.78% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของทั้งภูมิภาค ผลศึกษาชิ้นนี้อ้างว่า 40.9% ของผู้ใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีน้ำหนักเกิน ในปี 2556 เพิ่มขึ้นจาก 34% ในปี 2536 ขณะที่ในจีน มีผู้ใหญ่ที่น้ำหนักเกินเกณฑ์เพิ่มขึ้นจาก 13.2% มาอยู่ที่ 27.9% ส่วนอัตราดังกล่าวในบังกลาเทศเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจาก 8% เป็น 16.9 % ทั้งนี้พื้นที่ที่มีสัดส่วนคนน้ำหนักเกินเกณฑ์สูงที่สุดคือ บรรดาประเทศหมู่เกาะในแปซิฟิก ซึ่งอยู่ที่ 60.6% รายงานของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ระบุว่าประชาชนจำนวนมากในประเทศอย่างตองกาและซามัว หันไปบริโภคอาหารราคาถูก ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น เนื้อแปรรูป และน้ำอัดลม ผลสำรวจของเอดีบีไอชี้ว่า แถบเอเชียกลาง เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีสัดส่วนผู้ใหญ่น้ำหนักเกินเกณฑ์และเป็นโรคอ้วนสูงที่สุดในภูมิภาค อยู่ที่ 49.25% ต่างกับในเอเชีย ตะวันออก เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีสัดส่วนค่อนข้างต่ำอยู่ที่ 33.06% 28.85% และ 26.3% ตามลำดับ นอกจากนี้ สิ่งที่น่ากังวลมากขึ้นคือภาวะโรคอ้วนในเด็กในเอเชีย และแปซิฟิก เริ่มเข้าสู่ระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยในปี 2557 เด็กในจีน 23% มีน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือโรคอ้วน และในมาเลเซียมีสัดส่วน ดังกล่าวอยู่ที่ 22.5% รายงานของเอดีไอบียังชี้ว่าการดำเนินมาตรการทางการเงินสำหรับการดูแลสุขภาพและเศรษฐกิจในภาพรวมก็มีความสำคัญมาก โดยยอดต้นทุนที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วนโดยตรง เช่น ค่าใช้จ่ายการดูแลสุขภาพ ต้นทุนทางอ้อม เช่น การลางาน มีแนวโน้มที่จะบั่นทอนเศรษฐกิจและการพัฒนามนุษย์ในภูมิภาคนี้

Tag :