สสส.เตือน อยู่คอนโดฯ ระวังเสี่ยง! “โรคตึกเป็นพิษ”

by ThaiQuote, 16 มิถุนายน 2560

นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผอ.สำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า จากการสำรวจพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัยอาคารชุดในกทม. พบว่ามีวิถีชีวิตเร่งรีบตอนเช้ากับค่ำส่งผลต่อสภาวะความเครียด ขาดปฏิสัมพันธ์ของผู้อยู่อาศัยละเลยกฎการอยู่ร่วมกัน มีลักษณะครอบครัวเดี่ยวที่มีแนวโน้มเข้าสู่สังคมสูงอายุ ขาดการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมและเสี่ยงต่อโรค “SBS” หรือ “โรคตึกเป็นพิษ” (Sick Building Syndrome) โดยจะมีลักษณะอาการปวดหัว คลื่นไส้ คัดจมูก ไอ จาม เกิดผดผื่นคัน ระคายเคืองตา เนื่องจากระบบหมุนเวียนอากาศ ฝุ่นละอองและเชื้อโรคภายในตึก สิ่งที่ค้นพบสอดคล้องกับผลสำรวจของสวนดุสิตโพลในการสำรวจวิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดของกทม. พบว่าสิ่งสำคัญในการอยู่ร่วมกัน 95 % มองว่าการไม่ปฏิบัติตามกฎการอยู่รวมกันเป็นปัญหาหลักของวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน ตามด้วยต้องการกำหนดวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันเพื่อความสุขสงบ 79 % และความไม่รู้จักกัน ต้องการให้ผู้ดูแลคอนโดฯ ดูแลสุขทุกข์ของผู้อยู่อาศัย 67% “ทดลองนำร่องในพื้นที่ตึกสูง 5 ชุมชน พบว่าวิธีที่ได้ผลคือการหาแกนนำในพื้นที่มาขับเคลื่อน ซึ่งอาจเป็นผู้นำกิจกรรมชุมชนอยู่แล้ว เช่นผู้จัดการโครงการหรือนิติบุคคลโดยพัฒนาให้มีความรู้เรื่องสุขภาพที่ดีทั้ง 4 มิติ ได้แก่ กาย ใจ สังคม และปัญญา ทักษะการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ทักษะการฟังเพื่อจัดการความขัดแย้ง” นพ.ชาญวิทย์ กล่าว ขณะที่ นางมยุรี เถาลัดดา หัวหน้ากลุ่มงานสาธารณสุขชุมชน สำนักอนามัย กทม. เผยว่าหากมีผู้ป่วยโรคระบาดเกิดขึ้นกับชุมชนแนวตั้ง กทม.ก็ไม่รู้ข้อมูลและไม่สามารถเข้าไปจัดการได้ หากอาคารไม่เปิดพื้นที่ ความร่วมมือในการทำงานร่วมกับสสส.และลุมพินีคอนโดฯ ทำให้ได้องค์ความรู้ในการจัดการชุมชนน่าอยู่ของคนในตึกสูง โดยกทม.จะนำชุดความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนตึกสูงนำร่องส่งต่อไปยังเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่เพราะหากจัดการในเมืองที่ยากอย่างกทม.ได้แล้ว เมืองอื่นก็สามารถทำได้

Tag :