การพัฒนาคนตามคุณวุฒิวิชาชีพยุค 4.0

by ThaiQuote, 19 มิถุนายน 2560

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายในการปาฐกถาหัวข้อ “คุณวุฒิวิชาชีพ….โอกาสในการพัฒนาประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0”  ภายในงาน “ทิศทางและยุทธศาสตร์สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อเตรียมคนสู่ไทยแลนด์ 4.0”  ซึ่งจัดโดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพว่า รัฐบาลมีเป้าหมายในการพัฒนาทุนมนุษย์ให้พร้อมรับมือกับแผนแม่บทยุทธศาสตร์และมาตรการทั้งด้านเศรษฐกิจ กฎหมายและโครงสร้างพื้นฐาน  ทั้งด้านอุตสาหกรรม 4.0 เศรษฐกิจ 4.0 และประเทศไทย 4.0 ซึ่งถือเป็นความท้าทาย ทั้งนี้ระบบคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาทุนมนุษย์ตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันกำลังคนก็สามารถพิสูจน์ความสามารถและสร้างความก้าวหน้าในอาชีพด้วยการเข้ารับการประเมินสมรรถนะ และพัฒนาตนเองเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องตามเทคโนโลยีและลักษณะงานในอนาคต โดยคุณวุฒิวิชาชีพสามารถเป็นแนวทางในการปรับและพัฒนาตนเองเข้าสู่ยุค 4.0 ที่ความต้องการสมรรถนะกำลังคนเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีและโครงสร้างอุตสาหกรรมอนาคต อันจะนำไปสู่ลักษณะงานที่เน้นการทำงานร่วมกันระหว่างระบบอัตโนมัติยุคใหม่ (soft automation) และมนุษย์ ด้านนายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ องค์การมหาชน) หรือ สคช. กล่าวว่า ทุนมนุษย์จำเป็นต้องมีสมรรถนะสูงมีทักษะทางอาชีพ  ทักษะการคิดวิเคราะห์ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตามหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยคุณวุฒิวิชาชีพจะช่วยแก้ปัญหาความไม่สอดคล้องด้านสมรรถนะระหว่างอุปสงค์และอุปทานในตลาดแรงงาน และช่วยพัฒนาคุณภาพนักศึกษาอาชีวะให้เป็นช่างเทคนิคที่มีทักษะสามารถช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจให้เป็น 4.0 ในส่วนของ สคช. ได้ทำงานร่วมกับสถานศึกษา  สมาคมวิชาชีพ  และบริษัทเอกชนรวม 136 แห่ง ในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะเพื่อให้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ และร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาปรับหลักสูตรฐานสมรรถนะ จัดทำมาตรฐานอาชีพครอบคลุม 44 สาขา โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิมที่สามารถต่อยอดได้ (First S-Curve: เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ แปรรูปอาหาร ยานยนต์สมัยใหม่ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและเชิงสุขภาพ รวมถึงอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ)  และกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve: หุ่นยนต์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ โลจิสติกส์และการบิน การแพทย์ครบวงจร และดิจิทัล) รวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตามสคช.พร้อมที่ผลักดันให้กำลังคนมีสมรรถนะที่หลากหลาย (multi skills) รองรับการเข้ามาของเทคโนโลยีที่สร้างความพลิกผัน (disruptive technology) เพื่อพัฒนากำลังคนให้ครอบคลุมทุกมิติตามที่รัฐบาลกำหนด  คือ มิติความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ที่เน้นการสร้างมูลค่าด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ มิติความอยู่ดีมีสุขทางสังคมด้วยการเติมเต็มศักยภาพคน และมิติการยกระดับคุณค่ามนุษย์

Tag :