น่าตกใจ ! สงครามทำยอดผู้พลัดถิ่นทั่วโลกสูง 65 ล้านคน

by ThaiQuote, 25 มิถุนายน 2560

จำนวนตัวเลขกว่า 65.6 ล้านคนในปี 2559 นั้น ประกอบไปด้วยผู้ได้รับผลกระทบสามส่วนหลัก ๆ ได้แก่ผู้ลี้ภัย  จำนวน 22.5 ล้านคน ซึ่งถือว่าสูงที่สุดเท่าที่เคยปรากฏโดยในจำนวนนี้ 17.2 ล้านคน อยู่ในความรับผิดชอบของ UNHCR และที่เหลือคือผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ที่ขึ้นทะเบียนและได้รับความช่วยเหลือ

     อีกทั้งจากการสำรวจล่าสุดซีเรียยังคงเป็นประเทศที่ก่อให้เกิดผู้ลี้ภัยมากที่สุดในโลก คือ 5.5 ล้านคน หากแต่ในปี 2559 ยังมีปัจจัยใหม่ที่ใหญ่ที่สุดคือประเทศซูดานใต้ซึ่งในช่วงเดือนกรกฎาคม 2559 ความล้มเหลวในการสร้างสันติภาพในประเทศได้ก่อให้เกิดคลื่นผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่กว่า 739,000 คน ในช่วงสิ้นปี และมากกว่า 1.87 ล้านคนขณะนี้

     ในส่วนที่ 2 คือผู้ที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่นภายในประเทศจำนวน 40.3 ล้านคน ลดลงจากปีก่อนหน้านั้นคือ 40.8 ล้านคน โดย ซีเรีย อิรัก และโคลัมเบีย ยังคงติดอันดับสามประเทศหลักที่ต้องเผชิญสถานการณ์ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศจำนวนมากที่สุดในโลก โดยปัญหาผู้พลัดถิ่นภายในประเทศนั้นถือเป็น 2 ใน 3 ของสถานการณ์การพลัดถิ่นฐานทั่วโลก

      และอันดับที่ 3 คือ ผู้ขอสถานะผู้ลี้ภัย ซึ่งคือผู้ที่จำเป็นต้องหนีออกจากประเทศของตน และต้องการความคุ้มครองระหว่างประเทศในฐานะผู้ลี้ภัย โดยในปลายปี 2559 มีจำนวนผู้ขอสถานะผู้ลี้ทั่วโลกมากถึง 2.8 ล้านคน

     นายฟิลิปโป กรานดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า จำนวนยอดรวมผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยกว่า 65.6 ล้านคนนั้น คือผลพวงมหาศาลจากสงครามและการประหัตประหารทั่วโลกที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ นั่นหมายความว่าประชากรทุก 1 ใน 113 คนทั่วโลกนั้นต้องถูกบังคับให้ออกจากบ้านของตนเอง อันมีจำนวนสูงกว่าประเทศที่มีจำนวนประชากรลำดับที่ 21 ของโลก อย่างประเทศอังกฤษ

         ทั้งนี้หากพิจารณาในส่วนของประชากรผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัย ประเทศซีเรียก็ยังคงเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ผู้ลี้ภัย และผู้ขอสถานะผู้ลี้ภัยในต่างประเทศ มากที่สุดในโลกราว 12 ล้านคน หรือเกือบสองในสามของประชากร ซึ่งหากไม่นับสถานการณ์อันยาวนานของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ อัฟกานิสถานก็ยังคงเป็นอันดับสอง ราว 4.7 ล้านคน ตามด้วย อิรัก ประมาณ 4.2 ล้านคน  และซูดานใต้ ซึ่งวิกฤตการณ์ผู้พลัดถิ่นและ ผู้ลี้ภัยมีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในโลก โดยกว่า 3.3 ล้านคนได้ถูกบังคับให้ออกจากบ้านของตนเองเมื่อสิ้นปี 2559

        กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ลี้ภัยทั่วโลกคือ เด็กผู้ซึ่งเปราะบางและยังคงต้องแบกรับความไม่สมส่วนของความทุกข์ทรมานจากการลี้ภัย และเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ผู้ขอลี้ภัยกว่า 75,000 คน เป็นเด็กที่เดินทางคนเดียว หรือพลัดพรากจากพ่อแม่ ซึ่งจากรายงานกล่าวว่าตัวเลขนี้อาจจะยังน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับเหตุการณ์จริงที่กำลังดำเนินอยู่

         

Tag :