ไปรษณีย์ 4.0 ก้าวต่อไปจะเป็นอย่างไร?

by ThaiQuote, 29 มิถุนายน 2560

พล.อ. สาธิต พิธรัตน์ ประธานกรรมการ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.)เปิดเผยถึงนโยบายการขับเคลื่อน “ไปรษณีย์ไทย 4.0” ว่า เพื่อเป็นการตอบสนองยุทธศาสตร์ “ไทยแลนด์ 4.0” ไปรษณีย์ไทยมีนโยบายการขับเคลื่อน “ไปรษณีย์ไทย 4.0” โดยเริ่มตั้งแต่การสร้างความเข้มแข็งขององค์กรจากภายใน เพื่อให้บุคลากรทุกระดับของไปรษณีย์ไทย ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนให้ไปรษณีย์ไทยเป็นองค์กรที่มี “มาตรฐาน ทันสมัย พึงพอใจลูกค้า” ภายใต้หลักการบริหารที่โปร่งใสด้วยธรรมาภิบาล

       ขณะเดียวกันจะต้องพัฒนาขับเคลื่อนระบบงานและการให้บริการสู่การทำงานแบบ “มีผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง” สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการในยุคปัจจุบันมากที่สุด โดยต้องปรับปรุงระบบรับฝาก ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการ นำระบบ Automation มาช่วยในการปฏิบัติงาน

     สำหรับระบบ Automation ที่กล่าวมานั้น เป็นการเปิดบริการใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการและไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี อาทิตู้รับฝากและนำจ่ายอัตโนมัติในเขตชุมชน โดยให้พิจารณาความเหมาะสมคุ้มค่าก่อนการดำเนินการ ปรับปรุงระบบงานคัดแยก ผ่านการใช้เครื่องคัดแยกอัตโนมัติเพื่อลดการใช้แรงงานคนและสามารถรองรับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นผลภายในปี 2561 จำนวน 29 เครื่อง ปรับปรุงระบบงานนำจ่าย ให้ผู้ใช้สามารถกำหนดวัน  เวลา และสถานที่ในการรับสิ่งของได้ด้วยตนเอง

     นอกจากนี้ยังจะทำการปรับปรุงและพัฒนารูปลักษณ์ที่ทำการไปรษณีย์ ไปรษณีย์อนุญาต ร้านไปรษณีย์ไทย ให้มีความทันสมัย รองรับฟังก์ชั่นการทำงานอย่างครอบคลุม ใช้ประโยชน์จากโครงการเน็ตประชารัฐ เป็นแหล่งศูนย์กลางของชุมชนในการหาข้อมูลความรู้ เป็นแหล่งเรียนรู้ พักผ่อนหย่อนใจ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ไปรษณีย์ไทยจะเติบโตคู่ไปกับชุมชน ซึ่งจะต้องสำเร็จภายในปี 2562

          ด้านนางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปณท. กล่าวว่า นอกจากการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการให้บริการแล้ว ปณท.ยังมีแผนการใช้ความเข้มแข็งด้านเครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อเป็นสตาร์ทอัพแพลตฟอร์ม (Start Up Platform) สนับสนุนการเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อี-คอมเมิร์ซ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนการรองรับโครงการดิจิทัลชุมชนผ่านการพัฒนา 3 บริการหลัก คือ อีมาร์เก็ตเพลส แอนด์แพลตฟอร์ม (eMarketplace & Platform) ช่องทางการตลาดออนไลน์,     อีโลจิสติกส์ (eLogistics) ช่องทางการส่งของตอบโจทย์อีคอมเมิร์ซ, และอีเพย์เม้นท์ (ePayment) ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์

          อย่างไรก็ตาม ไปรษณีย์ไทย ได้วางแผนรองรับการขยายตัวของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษของภาคตะวันออก (EEC) โดยตั้งคณะทำงานสำรวจและศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล เร่งจัดหาพื้นที่เพื่อขยายจุดให้บริการไปรษณีย์ รองรับการเติบโตในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 พื้นที่ ได้แก่ 1)ขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันตก ณ จังหวัดตากและกาญจนบุรี 2) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดมุกดาหาร และหนองคาย 3) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ณ จังหวัดสระแก้ว และตราด 4) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (จังหวัดเชียงราย) และโอกาสการขยายการให้บริการด้านการขนส่งและขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม จีน และอินเดีย โดยมีเป้าหมายจะสำเร็จได้ภายใน 2562

Tag :