“สมคิด”ติดตามและเร่งรัดแก้ปัญหาจราจร กทม.และปริมณฑล

by ThaiQuote, 29 มิถุนายน 2560

          ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 2/2560 เพื่อติดตามผลและเร่งรัดการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล   โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ซึ่งผลการประชุมสรุปสาระสำคัญดังนี้

          ที่ประชุมรับทราบ ภาพรวมการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าตามแผนการพัฒนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ณ เดือนมิถุนายน 2560 ว่า ได้มีการเร่งรัดก่อสร้าง 6 เส้นทาง ระยะทาง 119.5 กิโลเมตร ได้แก่ 1) สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ เปิดให้บริการปี พ.ศ. 2563    2) สายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เปิดให้บริการเดินรถ 1 สถานี ต่อจากสถานีแบริ่งไปยังสถานีสําโรง โดยโครงการทั้งหมดจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี พ.ศ. 2561    3) สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต เปิดให้บริการปี พ.ศ. 2563    4) สายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เปิดให้บริการปี พ.ศ. 2563    5) สายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี รฟม.ได้ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างงานโยธาโครงการแล้วเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2560 เปิดให้บริการปี พ.ศ. 2566   และ 6) สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เปิดให้บริการแล้วจำนวน 3 สถานี

          สำหรับการดำเนินการในปี 2560 จะมีการนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกจำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 103.2 กิโลเมตร ได้แก่   1) สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ   2) สายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4   3) สายสีเขียวเข้ม ช่วงสมุทรปราการ-บางปู ระยะทาง 7 กิโลเมตร   4) สายสีเขียวเข้ม ช่วงคูคต–ลำลูกกา   5) สายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย   6) สีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต  และ 7) สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา

          พร้อมกันนี้ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โดยมอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต - สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ โดยการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวจากสถานีสำโรง-สถานีแบริ่ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เป็นประธาน ในพิธีเปิดเดินรถไฟฟ้าจากสถานีสำโรง-สถานีแบริ่ง เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2560 ณ สถานีสำโรง และได้ให้บริการเดินรถโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

          สำหรับการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต (รถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดภูเก็ต) นั้น ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานดังกล่าว ซึ่ง สนข.ได้ดำเนินการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 โดยรูปแบบจะเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit หรือTramway)  ระยะทางรวม 58.525 กิโลเมตร เป็นทางวิ่งระดับดิน ยกเว้นบริเวณท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต จะเป็นสถานียกระดับและมีทางลอดสำหรับระบบรถไฟฟ้า จำนวน 6 ทางลอด ตามแนวทางหลวงหมายเลข 402 มีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณสถานีรถไฟท่านุ่น จังหวัดพังงา เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบรถไฟสายใหม่เส้นทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี ถึงจังหวัดพังงา ส่วนจุดสิ้นสุดโครงการอยู่ทางเหนือของห้าแยกฉลอง (บนถนนเจ้าฟ้าตะวันออก ห่างจากห้าแยกฉลอง ประมาณ 200 เมตร) ทั้งนี้โครงการศึกษาออกแบบระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ได้ถูกบรรจุไว้ในโครงการตามมาตรการ PPP Fast Track ปี 2560 ของกระทรวงคมนาคม โดย รฟม. จะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินการลงทุนและการก่อสร้างต่อไป

          นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีการพิจารณาผลการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม  และออกแบบรายละเอียดโครงข่ายทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุขและทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร แนวทาง การลงทุนรูปแบบ PPP ซึ่งจะทำให้โครงข่ายถนนและทางพิเศษสามารถเชื่อมต่อกันได้เป็นระบบ บรรเทาปัญหาการจราจรของพื้นที่เขตเมืองในกรุงเทพมหานคร เป็นการพัฒนาโครงข่ายถนนสายหลักในกรุงเทพมหานครให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นทางเลือกในการเดินทางโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการของการเชื่อมโยงโครงข่ายดังกล่าวตามผลการศึกษาฯ และให้คค.มอบหมายหน่วยงานเจ้าของโครงการฯ ไปดำเนินการโครงการฯ รวมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กทพ, ทล., รฟท. พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนต่อไป

Tag :