SWOC ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะตอบโจทย์ยุค 4.0

by ThaiQuote, 19 กรกฎาคม 2560

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะหรือ SWOC นั้นเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ต้องการให้มีการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นกรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) กรมทรัพยากรน้ำการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมอุทกศาสตร์ทหารเรือการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค เป็นต้น เชื่อมโยงและจัดทำเป็นฐานข้อมูลกลาง เป็นส่วนช่วยสนับสนุนการตัดสินใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำของผู้บริหารประเทศได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว น่าเชื่อถือ ทันเหตุการณ์ และยังจะใช้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ คลังข้อมูลอีกด้วย SWOC มีองค์ประกอบสำคัญอยู่ทั้งหมด 3 ส่วนที่สำคัญ คือ ส่วนแรกจะมีระบบรวบรวมข้อมูลบริหารจัดการน้ำเป็นฐานข้อมูลกลางที่รวบรวมข้อมูลทั้งหมด อาทิ ข้อมูลโทรมาตร ระดับน้ำในลำน้ำ น้ำฝน ปริมาณน้ำ สภาพน้ำอ่างเก็บน้ำ ประตูระบายน้ำ เป็นต้น ทั้งที่เป็นสถิติและเป็นปัจจุบันรวมไปถึงฐานข้อมูล Agri-Map ส่วนที่สองจะมีระบบวิเคราะห์ข้อมูล จะใช้การประยุกต์แบบจำลองคณิตศาสตร์กับระบบ MIS (Management Information System) และ DSS ( Decision Support System) โดยทั้ง 2 แบบจะช่วยพยากรณ์และสนับสนุนการตัดสินใจให้แก่ผู้บริหารทั้งในด้านสถานการณ์น้ำและการจัดการความเสี่ยงที่มีผลกับเขื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ และส่วนสุดท้ายจะมีระบบการนำเสนอข้อมูลแบบบูรณาการ ประกอบด้วยสองส่วนคือ ส่วนการแสดงผลการติดตามสถานการณ์น้ำแบบ Realtime จากกล้องวงจรปิดจากโครงการชลประทานทั่วประเทศ และส่วนการแสดงข้อมูลจากระบบโทรมาตร ซึ่งขณะนี้กรมชลประทานได้ทำการปรับปรุงระบบโทรมาตรทั่วประเทศรวมประมาณ 300 สถานี เพื่อให้เทคโนโลยีรองรับซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งมีการเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกสำนักงานชลประทานหรือหน่วยงานอื่น ๆเข้าด้วยกัน ด้วยระบบ Video Wall Managementและ Video Conference เพื่อช่วยให้การนำเสนอข้อมูลด้านน้ำดำเนินไปพร้อมกัน SWOC แบ่งส่วนการใช้งานออกเป็น 4 ชั้น ชั้น 1 ใช้ประโยชน์ด้านการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำและลานกิจกรรมเพื่อจัดกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ชั้น 2 เป็น Office Zone ห้องปฏิบัติงานด้านอุทกวิทยาการบรหารจัดการน้ำ ชลประทาน การพัฒนาปรับปรุง บำรุง รักษาระบบชลประทาน ระบบโทรมาตรและารพยากรณ์น้ำและเป็นคลังข้อมูลน้ำกรมชลประทาน ชั้น 3 เป็นศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ มีภารกิจในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลน้ำฝน-น้ำท่า น้ำชลประทาน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ปริมาณน้ำผ่านอาคารชลประทาน โดยใช้ข้อมูลจากคลังข้อมูลกรมชลประทาน และวิเคราะห์สถานการณ์ด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อจัดทำเป็นรายงานเสนอผู้บริหารกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาวะปกติและวิกฤติ ภายในห้องประกอบด้วยระบบติดตามน้ำและการแสดงผลผ่านจอ Matrix จำนวน 40 จอ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ เป็น War Room ในการประชุมบริหารสั่งการน้ำของประเทศ 10 หน่วยงาน จำนวน 35 ที่นั่งและมีระบบแสดงผลผ่านจอVideo Wall ขนาด 7.75x 1.75เมตร นอกจากนี้ยังมีห้องแถลงข่าว 44 ที่นั่ง พร้อมจอนำเสนอขนาด 4.65 x1.75 เมตร ชั้น 4 เป็น Conference Room Zone ประกอบด้วยห้องประชุมกรมชลประทานแห่งใหม่ จำนวน 2 ห้องได้แก่ ประชุมใหญ่ 150 ที่นั่ง ชื่อ “ธารทิพย์ 01” ซึ่งคำว่าธารทิพย์ 01 เป็นรหัสวิทยุที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงใช้เรียกขานอธิบดีกรมชลประทาน และห้องประชุม 70 ที่นั่ง ชื่อ “ดงตาล” คำว่าดงตาล หมายถึง สัญลักษณ์ของสถานศึกษาเป็นที่ผลิตนายช่างชลประทานและวิศวกรชลประทาน ซึ่งเป็นบุคลากรในสายงานหลักของกรมชลประทาน SWOC มีขบวนการปฏิบัติงาน 5 ขั้นตอน ในการทำงานของ SWOC นั้น เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก SWOC จะทำการเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์น้ำและแจ้งเตือนภัยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลไปแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ เพื่อรับมือ ป้องกัน หรืออพยพต่อไป โดยมีขบวนการปฏิบัติงาน 5 ขั้นตอน ดังนี้ 1.ติดตามข้อมูลสภาพปริมาณน้ำฝน น้ำท่าและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 2.วิเคราะห์ พยากรณ์น้ำท่า เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำในลำน้ำสายหลักและอ่างเก็บน้ำจากแบบจำลองคณิตศาสตร์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ 3.ประเมินสถานการณ์ พื้นที่ที่จะรับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมและภัยแล้ง 4.วางแผน เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรและเครื่องมือ สำหรับเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้บริหารในการสั่งการให้หน่วยปฏิบัติลงพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติที่เกิดขึ้น 5.ประเมิน ความเสียหายและวางแนวทางการฟื้นฟู SWOC ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่กรมชลประทาน 4.0 (RID 4.0) เพราะนอกจากจะช่วยให้การบริหารจัดการน้ำมีความรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำขึ้น สามารถพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องเป็นไปตามยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำแล้ว นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางข้อมูลเรื่องน้ำที่จะช่วยสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยการให้ข้อมูลพร้อมคาดหมายสถานการณ์น้ำล่วงหน้าแก่เกษตรกร ช่วยให้เกษตรกรวางแผนทำการเกษตรได้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อลดความเสียหายได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้ทำการเกษตรประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายนำไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีหรือ Smart Farming และทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Tag :