ดร.สมฤดี ย้ำ Emotional Branding “กว่า 3 ใน 4 ซื้อสินค้าด้วยอารมณ์” เชื่อหรือไม่?

by ThaiQuote, 17 สิงหาคม 2560

มาถึงบทที่ 4 เรียกว่าเป็นอีกหัวข้อที่น่าสนใจไม่น้อย แค่จั่วหัวเรื่องไว้ว่า “สร้างแบรนด์ตรึงอารมณ์” (Emotional Branding) คุณเชื่อหรือไม่กว่า 3 ใน 4 ของการซื้อสินค้า ตัดสินใจด้วยอารมณ์ เรียกว่าโดนใจซะไม่มี ส่วนรายละเอียดจะเป็นเช่นไรตาม “ดร.สมฤดี”ถ่ายทอดเรื่องราวได้เลย “Marc Gobe” เป็นครีเอทีฟแมนชาวฝรั่งเศส เป็นดีไซเนอร์ตัวจริงที่ทำงานสร้างแบรนด์ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก เช่นเสื้อผ้าดัง ๆในฝรั่งเศสและสหรัฐ ปัจจุบันบริษัทของเขาติด 1ใน 10ของโลกที่เชี่ยวชาญเรื่องสร้างแบรนด์ ประสบการณ์ของเขาเป็นประสบการณ์จากการทำงานจริง มิใช่นักทฤษฎีหรือกูรูแบบ “Philip Kotler” ความลับที่เขาค้นพบและสร้างแบรนด์ให้ดังระเบิดโลก ให้เป็นแบรนด์ที่มีคุณค่าสูงที่มีเสน่ห์ลึกซึ้งตรึงอารมณ์ของผู้นิยมชมชื่นแบรนด์นั้นจนรักสุดหัวใจ เพราะนั่นคือสิ่งที่เขาทำมากับมือให้กับลูกค้ามาตลอดชีวิต Emotional Branding นี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ 10 กว่าปีก่อน เขามองเห็นล่วงหน้าเรื่อง Social Media ที่จะปรับเปลี่ยนวิถีคิดของคนรุ่นใหม่และวิธีคิดของวงการครีเอทีฟที่ต้องปรับตัวให้ทัน การรู้จักสร้างอารมณ์คนให้ผูกพันกับแบรนด์ด้วยสื่อยุคใหม่ซึ่งเป็นก้าวใหม่ของโลก หนังสือเล่มปัจจุบันเขาปรับปรุงให้ทันสมัยและยกตัวอย่างที่ทันเหตุการณ์ เช่นแคมเปญที่เข้าหลัก Emotional Branding ของ Barack Obama ที่พลิกโฉมอเมริกาอย่างไม่มีใครคาดฝัน นักการตลาดในเมืองไทยอาจรู้จักเขาน้อยเมื่อเทียบกับ “Philip Kotler”, “Peter Drucker” หรือ “Michael E. Poter” แต่ผู้เขียนชอบความคิดที่กลั่นมาจากประสบการณ์จริงที่หาได้ยากยิ่งของ Marc Gobe มากกว่า เพราะเขาคือครีเอทีฟแมนตัวจริงที่ทำงานให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบโลโก้ การคิดคอนเซ็ปต์สินค้า การใช้อารมณ์และความรู้สึกเป็นตัวนำในการผูกลูกค้าไว้กับแบรนด์จนประทับใจแบรนด์นั้นลึกซึ้งเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของจิตใต้สำนึก ที่ทำให้คนรัก หวงแหน ปกป้อง และภักดีต่อแบรนด์นั้นตราบนานเท่านาน ชีวิตทำงานของเขาผูกพันอยู่กับการติดตามดูกระแสแฟชั่นของโลกทั้งที่ฝรั่งเศสและสหรัฐฯ เฝ้าจับแนวคิดและอารมณ์ที่ผันแปรของวงการ การได้รับมอบหมายให้ออกแบบกราฟิก สีสันและอารมณ์อันวิจิตรให้กับโค้กในหมู่บ้านโอลิมปิกที่แอตแลนตา ทำให้ผู้บริหารระดับสูงยอมรับในฝีมือเพราะความลับในวงการตลาดคือ กว่า 75 % ของการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคตัดสินใจด้วยความรู้สึกที่สัมผัสและอารมณ์มากกว่าเหตุผลเสมอ แม่บ้านที่เดินช้อปปิ้งในซูปเปอร์มาเก็ตหยิบสินค้าโดยสัญชาตญาณทันทีที่เห็นแบรนด์เห็นสีกล่องบรรจุภัณฑ์ พ่อบ้านเดินรอบ ๆรถยนต์รุ่นใหม่ที่เป็นแบรนด์โปรดปรานด้วยความหลงไหลแม้ราคาจะแพงกว่าขนาดเดียวกันเป็นเท่าตัว สาว ๆถือกระเป๋าหลุยส์ วิตตองของแท้ทั้งที่ราคาสามารถซื้อกระเป๋าหน้าตาคล้ายกันได้อีก 10 ใบ ทำไมวัยรุ่นต้องไปยืนเข้าคิวรอเพื่อซื้อโดนัทคริสปี้ครีมนานกว่าชั่วโมงทั้งที่ร้านโดนัทคู่แข่งว่างไม่มีคิว อะไรคือ ความลับและเสน่ห์ลึกซึ้งอันชวนหลงใหลขนาดนี้ นักการตลาดและนักครีเอทีฟจับอารมณ์ และสื่อแบรนด์เหล่านี้ให้เข้าไปอยู่ในจิตใต้สำนึกของผู้บริโภคได้อย่างไร ดิฉันได้คำตอบจาก Emotional Brand เล่มนี้เอง ทั้งที่ทำงานในวงการนี้มานับสิบปี จึงตัดสินใจนำสรุปย่อบางส่วนมาเผยแพร่ เพราะตรงกับยุค creative Society พอดี ลาก่อนทฤษฎี Supply vs. Demand Marc Gobe กล่าวในบทนำของเขาว่า โลกของเราวันนี้ได้เปลี่ยนจากยุคอุตสาหกรรมที่นำโดยเทคโนโลยีเครื่องจักรที่ก้าวหน้ากลายมาเป็นยุคผู้บริโภคนำ และเป็นผู้กำหนดชะตากรรมสินค้าในครึ่งศตวรรษที่ผ่านมานี้เอง นิตยสาร “ไทม์” ระบุชัดว่าอุตสาหกรรมของโลกได้พลิกผันจากยุคผู้ผลิตเป็นใหญ่ กลายมาเป็นยุคผู้บริโภคเป็นใหญ่ จากยุคที่ใช้เหตุผลนำกลายมาเป็นยุคแห่งแรงปรารถนาของผู้ซื้อนำ จากยุคตรรกวิทยามาเป็นยุคจิตวิทยา จากไอเดียน้อย ๆคือคอมพิวเตอร์ที่เริ่มจากเครื่องคิดคำนวณเล็ก ๆของมนุษย์กลายเป็นที่มาของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่ร่ำรวยมหาศาลกลายเป็นธุรกิจระดับแสนล้านบาท กลายมาเป็น“ธุรกิจบันเทิงและไลฟ์สไตล์”มูลค่ามหาศาล อุตสาหกรรมเครื่องบินกลายเป็น“อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจ” อุตสาหกรรมอาหารกลายเป็นอุตสาหกรรมวิถีชีวิตและคุณภาพชีวิตใหม่” มหาวิทยาลัยในอนาคตจะกลายเป็น“ธนาคารและศูนย์แห่งการเรียนรู้”ที่ไม่มีขอบเขตจำกัด ไม่ว่าจะอยู่ในแห่งใดในโลก สิ่งที่นักการตลาดต้องสำนึกคือการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทุกปี สิ่งที่เรานิยมชมชื่นเมื่อ 5 ปีที่แล้วอาจตกรุ่นล้าสมัยไปทันที เรากำลังอยู่ในโลกของค่านิยมใหม่ ทรัพย์สินทางปัญญาหรือคุณค่าที่จับต้องไม่ได้กลับกลายเป็นมีมูลค่ามากกว่าทรัพย์สมบัติที่จับต้องได้ แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เรื่อง Supply/Demand ต้องถูกประเมินใหม่ ตำราที่องค์กรต่าง ๆยึดถือเป็นคัมภีร์คือ พยายามลดต้นทุนและเก็บเกี่ยวกำไรให้มากที่สุดอาจต้องโยนทิ้งไป กลับมาเป็นมุ่งสู่การหารายได้ใหม่ไนตลาดที่เติบโตเร็วกว่า กำไรสูงกว่าด้วยนวัตกรรมและความคิดใหม่ๆ นิตยสาร Wall Steet Journal พาดหัวว่า “ลาก่อน Supply vs. Demand” พร้อมกับสรุปว่า “ในที่สุดแล้วบรรทัดสุดท้ายของธุรกิจ : ความคิดสร้างสรรค์คือทุนนิยมใหม่แห่งความเจริญเติบโตอันไม่มีขีดจำกัดขององค์กร” ในยุคใหม่ความคิดสร้างสรรค์คือเงินทองไอเดีย คือเงินตราสกุลใหม่ที่มีค่ามากกว่าตัวเงินจริง ๆ เพียงไอเดียเดียวน้อย ๆ ที่ยิ่งใหญ่ เมื่อจุติในสินค้าใด แบรนด์ใด ก็สามารถเนรมิตอนาคตใหม่ให้กับองค์กรทั้งหมดได้ในฉับพลัน แต่อะไรล่ะคือไอเดียน้อย ๆที่ยิ่งใหญ่ดังกล่าว ในภาวะตลาดปัจจุบันที่แบรนด์ทุกเเบรนด์ต่างก็สาละวนต่อสู้เพื่อความอยู่รอดโดยอาศัยสินค้าและคุณภาพ ที่ต่างก็งัดสรรพคุณมาสู้กันเต็มที่ในโลกใหม่ของอารมณ์ผู้บริโภคที่ครอบคลุมการตัดสินใจมากกว่าการใช้เหตุและผล การสร้างอารมณ์ให้คล้อยตาม จูงใจให้ตัดสินใจ หมายถึงการที่สินค้าใด แบรนด์ใดสามารถกระตุ้นเร้าให้เกิดความผูกพันเกี่ยวพันในทางจิตใจอย่างลึกซึ้งเข้าไปในจิตใต้สำนึก จนยากที่ตัดใจจากอารมณ์รักและผูกพัน นี่เองคือที่มาของ Emotional Branding หรือการผูกแบรนด์กับผู้บริโภคให้ซึ้งตรึงอารมณ์และความรู้สึกถวิลหาให้เป็นแบรนด์สุดเสน่หาไม่รู้ลืม Marc Gobe ได้เชิญชวนให้ทุกคนเข้าสู่มิติใหม่ โลกแห่งแบรนด์ที่รังสรรค์เสน่ห์ร้อยลึกซึ้งตรึงอารมณ์ที่ประมวลรวมสิ่งที่มีคุณค่าทางใจ จินตนาการ ประสาทสัมผัสทั้ง 5 การผสมผสานวิชาจิตวิทยา สังคมวิทยา มานุษยวิทยาเพื่อสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงใหม่ให้กับมนุษย์ได้อย่างเหมาะเจาะงดงาม สาระกำลังเข้มข้นเลย ต้องขอย้ำเลยว่าให้ติดตามอย่างต่อเนื่องแล้วคุณจะรู้แจ้งเห็นจริงในการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน และก้าวสู่ความมั่งคั่ง มั่นคงและยั่งยืน แล้วพบกับตอนที่ 2 ในคราวหน้า

Tag :