รู้จัก “ป่านศรนารายณ์” ในหลวง(ร.9) ให้ที่ พระราชินีให้อาชีพ

by ThaiQuote, 25 สิงหาคม 2560

ป่านศรนารายณ์เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว มีเส้นใยที่มีลักษณะแข็ง เหมาะสำหรับใช้ในการทำอุตสาหกรรมและทำเชือก มีต้นกำเนิดอยู่ที่ประเทศเม็กซิโกและถูกนำมาปลูกในประเทศไทยเมื่อปี 2505  ที่สถานีทดลองพืชไร่โนนสูง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาได้มีการขยายผลปลูกเพิ่มเติมในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี 2515 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เยี่ยมเยียนราษฎรที่ได้มาอยู่อาศัยในหมู่บ้าน หุบกะพง ซึ่งได้พระราชทานที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรดังกล่าวตั้งแต่ปี 2507 ต่อมาได้พระราชทานคำแนะนำให้มีการนำป่านศรนารายณ์มาใช้ประโยชน์ด้านการจักสานเพื่อเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน โดยใช้เวลาว่างหลังจากเลิกงานด้านการเกษตรแล้วมาเรียนรู้วิธีการจักสานป่านศรนารายณ์  เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวอีกทางหนึ่งโดยมีสมาคมสตรีธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมให้ความรู้และฝึกทักษะให้แก่แม่บ้านสหกรณ์ ด้วยวิธีการใช้เส้นใยป่านศรนารายณ์มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ ชนิดต่าง ๆ อาทิหมวก กระเป๋า รองเท้า เข็มขัด และเมื่อเป็นผลิตภัณฑ์แล้วก็รวบรวมส่งให้กับสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด เป็นผู้จำหน่าย  พร้อมนำมาวางจำหน่ายที่ศูนย์รวบรวมผลิตภัณฑ์ ป่านศรนารายณ์ในหมู่บ้านหุบกะพง ต่อมาในปี 2524 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับงานศิลปาชีพพิเศษป่านศรนารายณ์ของกลุ่มสตรีสหกรณ์หุบกะพงไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และได้เพิ่มจำนวนพื้นที่เพาะปลุกมากขึ้น ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์จนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป และเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ งานหัตถกรรมป่านศรนารายณ์จึงเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับราษฎรในหมู่บ้านหุบกะพงและเป็นอาชีพที่มั่นคงมาจนถึงปัจจุบัน นางสาวเพ็ญทิพย์ แย้มศรี ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด กล่าวว่า การจำหน่ายผลิตภัณฑ์งานศิลปาชีพจักสานป่านศรนารายณ์ถือเป็นธุรกิจหนึ่งของสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด เนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เข้ามาส่งเสริมอาชีพให้ชาวบ้านจักสาน ป่านศรนารายณ์เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ  เพื่อจำหน่าย ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด และเติบโตคู่กันมา  ซึ่งชาวบ้านหุบกะพงยึดคำขวัญที่ว่า “ในหลวงให้ที่ พระราชินีให้อาชีพ” โดยมีผู้ผลิตงานหัตถกรรมป่านศรนารายณ์เป็นชาวบ้าน แม่บ้านในพื้นที่รวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มสตรีศิลปาชีพพิเศษ  ป่านศรนารายณ์ ส่วนสหกรณ์ก็จะเป็นผู้รับซื้อผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจากกลุ่มสตรีฯ  เพื่อนำมาจำหน่ายที่ร้าน  ในหมู่บ้านหุบกะพงและในโครงการชั่วหัวมัน และที่มูลนิธิสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ค่ายพระรามหก และได้ร่วมวางแผนการตลาดให้ด้วย ส่วนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ก็จะมีกระบวนการแปรรูปตั้งแต่วัตถุดิบ ซึ่งทางสหกรณ์จะจัดหาพื้นที่ว่างในหมู่บ้านปลูกต้นป่านศรนารายณ์ และสมาชิกของสหกรณ์สามารถไปตัดใบเพื่อนำไปขูดเป็นเส้นใย              แล้วเอามาขายให้กับสหกรณ์ จากนั้นผู้เฒ่า ผู้แก่ก็จะนำเส้นใยป่านศรนารายณ์ไปถักเป็นเปีย แล้วก็เอากลับมาขายให้กับสหกรณ์ เป็นการสร้างอาชีพให้กับผู้เฒ่า ผู้แก่ ในพื้นที่ส่วนหนึ่ง และสมาชิกก็จะมาเบิกเส้นใยหรือเปียไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ หลังจากนั้นก็นำผลิตภัณฑ์กลับมาขายให้กับสหกรณ์ ปัจจุบันนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เช่นมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตเพชรบุรีที่เข้ามาช่วยในการออกแบบตราสินค้าให้ และจัดทำเว็บไซต์เพื่อให้มีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น และขณะนี้อยู่ระหว่างการอบรมที่ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ที่ 15 ในด้านการพัฒนาสิ่งทอ และหาวิธีการที่จะทำให้ป่านศรนารายณ์ที่มีความแข็งให้มีความนุ่มขึ้น ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มอาชีพของศิลปาชีพพิเศษป่านศรนารายณ์จำนวน 20 ราย โดยในส่วนของสมาชิกกลุ่มอาชีพศิลปาชีพพิเศษสหกรณ์ทำหน้าที่ในการจัดหาวัตถุดิบมาให้ ทำการตลาด และพยายามศึกษาหาความรู้ในการปรับเปลี่ยนพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นสากลยิ่งขึ้น ผลิตภัณฑ์จากป่านศรนารายณ์มีหลากหลายชนิด เช่น หมวก กระเป๋า เข็มขัด ที่คาดผม   กิ๊บติดผม พวงกุญแจ รองเท้า สินค้ากิ๊ฟช็อป และสินค้าเบ็ดเตล็ด ซึ่งขณะนี้กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็น   แผ่นรองจาน แผ่นรองแก้ว ให้มีรูปแบบเป็นสากลยิ่งขึ้น โดยจะพัฒนาสีสันเพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าที่ขายดีก็จะเป็นหมวก และกระเป๋า เพราะมีหลากหลายรูปแบบ ราคาขายเริ่มต้นตั้งแต่ 20-800 บาท สร้างยอดขายให้กับสหกรณ์ประมาณ 100,000-200,000 บาทต่อเดือน สมาชิกมีรายได้เดือนละ 5,000-15,000 บาท   ต่อราย ตอนนี้เตรียมขยายตลาดขายสินค้าทางระบบออนไลน์ ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเพิ่มยอดขาย และกระจายสินค้าได้อย่างทั่วถึงและสะดวกยิ่งขึ้น นักท่องเที่ยวที่ได้มีโอกาสมาเที่ยวจังหวัดเพชรบุรี สามารถเที่ยวชมและซื้อสินค้าของชาวบ้าน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์ที่อยู่คู่กับสหกรณ์แห่งนี้มานานกว่า 40 ปีแล้ว จึงอยากให้ช่วยอุดหนุนสินค้าของชาวบ้าน เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ผู้สนใจสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ที่ร้านสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด ต.เขาใหญ่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี หรือติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 032-593178 ทางเว็บไซต์ www.coopthai.com/hubkrapong "สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด ยังมีแนวทางในการส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม โดยจะให้เด็กนักเรียนจากโรงเรียนหุบกะพงเข้ามาเป็นมัคคุเทศก์คอยแนะนำข้อมูลต่างๆ ให้กับคณะที่มาศึกษาดูงานสหกรณ์ ซึ่งในปีนี้มีนโยบายจะขยายพื้นที่ปลูกป่านศรนารายณ์ เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกทำการเกษตรแปลงใหญ่ และช่วยกันอนุรักษ์ป่านศรนารายณ์ให้อยู่คู่กับพื้นที่ของหุบกะพงต่อไปนานๆ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเกษตรแปลงใหญ่อย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2561 นอกจากนี้ ยังปลูกฝังให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าของป่านศรนารายณ์ และร่วมกันสืบสานอาชีพการทำผลิตภัณฑ์  จักสานป่านศรนารายณ์ให้ดำรงอยู่คู่กับหมู่บ้านหุบกะพงต่อไป” ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด กล่าว

Tag :