ปชช.เชื่อมั่น‘ภาคประชาสังคม’ ผลสำรวจชี้อสม.ทำงานเยี่ยม

by ThaiQuote, 26 สิงหาคม 2560

ดร.อมรศักดิ์ กิจธนานันท์ หัวหน้าคณะทำงานสภาปัญญาสมาพันธ์ กล่าวว่า ผลการสำรวจครั้งนี้ใช้วิธีสอบถามความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มตัวอย่างอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 1,176 คนจากทั่วทุกภาคของประเทศ ประกอบด้วย สมุทรปราการ ชัยนาท ลำปาง นครสวรรค์ สงขลา ตรัง อุดรธานี เลย และกรุงเทพฯ ที่มีต่อดัชนีประสิทธิผลภาคประชาชน (People Sector Effectiveness Index - PPE Index) ประจำไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 ปรากฏว่า  5 อันดับองค์กรภาคประชาสังคมที่ได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชนมากที่สุดในการสำรวจครั้งนี้ ได้แก่ อันดับ 1 เป็นของ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ครองแชมป์ด้วยคะแนนประชาชนเลือกถึงร้อยละ 73.02 รองลงมาเป็น มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้คะแนนเป็นอันดับ 2 อยู่ที่ร้อยละ 62.84 ถัดมาเป็นอันดับ 3 อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ได้คะแนนร้อยละ 59.89 ส่วนอันดับ 4 มูลนิธิร่วมกตัญญู ได้คะแนนร้อยละ 51.69 และอันดับ 5 มูลนิธิปวีณา หงส์สกุล เพื่อเด็กและสตรี ได้คะแนนร้อยละ 41.65 ในการสำรวจครั้งนี้แบ่งเป็น 2 หมวด ได้แก่ “ด้านประสิทธิผลภาคประชาชน” ซึ่งในหมวดนี้ประชาชนให้คะแนนอยู่ที่ร้อยละ 68.44 และพบว่าการตอบสนองความต้องการของสังคม องค์กรภาคประชาสังคมสามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ ตรงประเด็น ประชาชนให้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ร้อยละ 68.74 รองลงมาคือ การติดตาม ให้ข้อมูลป้อนกลับไปยังหน่วยงานต่าง ๆ และการรณรงค์ประเด็นทางสังคม ได้คะแนนร้อยละ 68.51 หมายถึงบทบาทองค์กรภาคประชาสังคมในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐและเอกชน รวมถึงกระตุ้นให้สังคมได้ตระหนักถึงปัญหาต่าง ๆ และชักชวนให้เข้ามาแก้ปัญหาร่วมกัน ส่วนอันดับ 3 คือ ความสามารถในการเข้าถึงประชาชน องค์กรภาคประชาสังคมมีความสามารถในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามประเด็นที่มีความครอบคลุมผลประโยชน์โดยรวมของสังคมไทย ประชาชนให้คะแนนอยู่ที่ร้อยละ 68.26 และอันดับ 4 การเสริมสร้างขีดความสามารถของสังคม องค์กรภาคประชาสังคมมีบทบาทเสริมสร้างศักยภาพของประชาชน ให้ความรู้พัฒนาทักษะให้ประชาชนมั่นใจว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องรอความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว ได้คะแนนร้อยละ 68.13 กับอีกหมวดหนึ่งคือ “ด้านการดำเนินงานของภาคประชาชน” ซึ่ง ประชาชนให้คะแนนในหมวดนี้อยู่ที่ร้อยละ 67.64 โดยพบว่าการสร้างพันธมิตรและบูรณาการ หมายถึงองค์กรภาคประชาสังคมไม่ได้ทำงานโดยลำพัง แต่มีความร่วมมือกับภาคส่วนอื่น ๆที่เกี่ยวข้อง มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็นในการทำงานกับองค์กรอื่นๆ อย่างราบรื่น ประเด็นนี้ประชาชนให้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ร้อยละ 69.41 ขณะที่อันดับ 2 คือ ประสิทธิภาพ การทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมมีความคุ้มค่ากับเงินที่มีผู้บริจาคให้ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้สนับสนุน ประชาชนให้คะแนนไว้ที่ร้อยละ 68.66 ถัดมาเป็นอันดับ 3 เรื่องของ ความเป็นมืออาชีพ บุคลากรในองค์กรภาคประชาสังคมเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญในสายงาน สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีจริยธรรม ได้คะแนนร้อยละ 68.52 อันดับ 4 ความรับผิดรับชอบ องค์กรภาคประชาสังคมมีการแก้ไขอย่างจริงจังเมื่อกระทำสิ่งที่เกิดผลกระทบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงการชดใช้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าวพบว่า ประชาชนให้คะแนนไว้อยู่ที่ร้อยละ 68.50 ส่วนอันดับ 5 ความโปร่งใส การดำเนินการขององค์กรภาคประชาสังคมทำอย่างเปิดเผย ยินดีรับการตรวจสอบจากผู้รับบริการ พบว่าประชาชนให้คะแนนไว้อยู่ที่ร้อยละ 66.03 และอันดับ 6 การปลอดคอร์รัปชั่น องค์กรภาคประชาสังคมมีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ติดสินบนหรือเรียกรับผลประโยชน์อันไม่สมควร ได้คะแนนร้อยละ 64.59 หากเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ “ดัชนีประสิทธิผลภาครัฐประเทศไทย” ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2560 เช่นเดียวกัน พบว่าด้านประสิทธิผลภาครัฐได้คะแนนเฉลี่ยภาพรวม ร้อยละ 67.99 ขณะที่ด้านการดำเนินงานของภาครัฐได้คะแนนเฉลี่ยภาพรวม ร้อยละ 65.49 อย่างไรก็ตามทั้งองค์กรภาครัฐและองค์กรภาคประชาสังคม ประเด็นการปลอดคอร์รัปชั่นยังเป็นสิ่งที่ควรปรับปรุงเพราะได้คะแนนน้อยที่สุด โดยองค์กรภาครัฐได้คะแนนร้อยละ 64.07 และองค์กรภาคประชาสังคมได้คะแนนร้อยละ 64.59 เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น ด้าน ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสภาปัญญาสมาพันธ์ และประธานอำนวยการบริหารจัดทำดัชนีประสิทธิผลประเทศไทย กล่าวว่า การสำรวจดัชนีประสิทธิผลประเทศไทย (Thailand’s Effectiveness Index) เป็นการสำรวจการรับรู้ของประชาชน (perception survey) โดย “สภาปัญญาสมาพันธ์” (WISDOM COUNCIL) ซึ่งได้ดำเนินการเก็บข้อมูลจากคนไทยในพื้นที่ต่าง ๆ ทุกระดับการศึกษา ทุกอาชีพ เพื่อให้ได้ความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและครบถ้วน โดยผลสำรวจจะสะท้อนความรู้สึกนึกคิด ความต้องการ ตลอดจนความคาดหวังของประชาชน ที่มีต่อ 3 ภาคส่วนที่ล้วนมีความสำคัญต่อประเทศ ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ผ่านการดำเนินการทำแบบสำรวจตามไตรมาสอย่างเป็นประจำต่อเนื่องตลอดทั้งปี จึงช่วยให้มองเห็นมุมมองความคิดของประชาชนที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลาต่อทั้งสามภาคส่วนได้เป็นอย่างดี ดังนั้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจึงสามารถนำข้อมูลที่ได้รับนำไปปรับปรุงแก้ไข หรือพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและต่อประเทศชาติได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
Tag :