อัพเกรดชาวเขาพื้นที่โครงการหลวง สู่ Smart Farmer

by ThaiQuote, 30 สิงหาคม 2560

กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สนองงานร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวงตั้งแต่ปี 2536 โดยส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวงรวมกลุ่มกันประกอบอาชีพและจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสหกรณ์ เพื่อร่วมกันบริหารจัดการผลผลิตของสมาชิก ปัจจุบันมีสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวงจำนวน 57 แห่ง กลุ่มเกษตรกร 3 แห่ง กลุ่มเตรียมการสหกรณ์ 8 แห่ง กลุ่มอาชีพ 2 แห่ง กระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือ ทั้งเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา และแม่ฮ่องสอน มีสมาชิกซึ่งเป็นชาวเขารวม 10,407 คน ทุนดำเนินงาน 169.814 ล้านบาท โดยสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวง ได้ดำเนินธุรกิจให้บริการแก่สมาชิกทั้งในด้านการให้สินเชื่อเพื่อนำไปประกอบอาชีพ การจัดหาวัสดุอุปกรณ์และปัจจัยการผลิตที่สมาชิกต้องการ การรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกและขนส่งไปยังมูลนิธิโครงการหลวง ตลอดจนการรับฝากเงินจากสมาชิก เพื่อส่งเสริมการออมเงิน ในแต่ละปี จะมีการจัดประชุมตัวแทนสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวง เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรของสหกรณ์ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์และเจ้าหน้าที่จากโครงการหลวงได้หารือถึงแนวทางในการพัฒนาสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวง รวมถึงสร้างความเข้าใจร่วมกันในวิธีการปฏิบัติงานเพื่อพัฒนาการดำเนินงานของสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวงให้มีประสิทธิภาพและสามารถตอบสนองความต้องการของสมาชิกในด้านการพัฒนาอาชีพการเกษตรให้มีความเจริญก้าวหน้า สำหรับในปีนี้ ศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ รองประธานและรองผู้อำนวยการมูลนิธิโครงการหลวง ได้มาเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานาด้านสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวง ณ โรงแรมกรีนนิมมาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีคณะกรรมการสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มเตรียมสหกรณ์ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวงและหัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงจากจังหวัดต่าง ๆ เข้าร่วมจำนวน 230 คน ซึ่งภายในงานมีการแสดงนิทรรศการผลความก้าวหน้าของสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวง การแสดงและจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของสมาชิก ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ที่มาร่วมในงานอย่างดียิ่ง การประชุมดังกล่าว ได้รายงานการประเมินผลการดำเนินงานของสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวง และมีการมอบประกาศนียบัตรให้กับสหกรณ์ที่ผ่านการประเมินผลการดำเนินงานดีเด่น ประจำปี 2560 ในด้านต่างๆ ได้แก่ สหกรณ์ดีเด่นในพื้นที่โครงการหลวง 3 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงดอยอินทนนท์ จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ สหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงบ้านอมพาย จำกัด และสหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงแม่สะเรียง จำกัด จังหวัดแม่ฮ่องสอน นอกจากนี้ ยังมีการคัดเลือกสมาชิกสหกรณ์ดีเด่นที่มีการนำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ในในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และเสียสละ จำนวน 16 ราย  รางวัลเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานส่งเสริมสหกรณ์ดีเด่น เพื่อยกย่องให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่ร่วมส่งเสริมการดำเนินงานให้กับสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวงที่ทุ่มเท ตั้งใจทำงานด้วยความเอาใจใส่และปฏิบัติงานด้วยความตั้งใจอย่างเต็มที่ ซึ่งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกได้แก่ นายอรรนพ เปรมัษเฐียร หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม จังหวัดเชียงใหม่ และยังมีสหกรณ์ที่ได้รับประกาศนียบัตรผ่านการประเมินตามเกณฑ์จัดระดับความเข้มแข็งของสหกรณ์ระดับชั้น 1 จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงแม่ปูนหลวง จำกัด  สหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงทุ่งหลวง จำกัดและสหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงดอยอินทนนท์ จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ นายประยูร อินสกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมในการประชุมผู้แทนสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวง พร้อมนำเสนอนโยบายในการส่งเสริมสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวง ว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์มีความตั้งใจที่จะส่งเสริมและพัฒนาการดำเนินงานของสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวงให้มีความเข้มแข็ง เป็นองค์กรที่ช่วยดูแลชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพให้กับเกษตรกรในพื้นที่ต่าง  ๆ ให้มีความกินดีอยู่ดีมีรายได้ที่มั่นคง โดยจะนำนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้ามาส่งเสริมการดำเนินงานให้กับสหกรณ์เหล่านี้ เพื่อให้ชาวเขาที่เป็นสมาชิกสหกรณ์พัฒนาการผลิตสินค้าการเกษตรให้มีคุณภาพ สามารถลดต้นทุนและมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งแสวงหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาแนะนำส่งเสริมให้สมาชิกของสหกรณ์ได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้กับการผลิตและแปรรูปสินค้าต่าง ๆ ให้ได้มาตรฐานและช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าด้วย ซึ่งสมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวงจะต้องมีการ                วางแผนการผลิตที่ชัดเจนและสามารถเข้าไปเรียนรู้วิชาการด้านการเกษตรและเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก) ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมถึงศึกษาจากพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ที่มีการดำเนินงานจนประสบผลสำเร็จเป็นแปลงตัวอย่างที่เกษตรกรสามารถนำกระบวนการบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตรชนิดต่าง  ๆ แบบแปลงใหญ่ไปใช้กับการทำเกษตรในพื้นที่โครงการหลวงได้ ซึ่งคาดหวังว่าสมาชิกสหกรณ์พื้นที่โครงการหลวงจะสามารถก้าวสู่การเป็น Smart Farmer ที่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพได้ในอนาคตต่อไป

Tag :