แพทย์แนะ 6 ข้อเตรียมกาย ใจ ช่วงเวลาถวายพระเพลิงพระบรมศพ

by ThaiQuote, 20 กันยายน 2560

อาการใจหายนี้เป็นเพียงกลุ่มอาการที่ยังไม่ถือว่า ป่วยเป็นโรคทางจิตใจ ผู้ที่มีอาการจะหายใจไม่อิ่ม หายใจไม่ทั่วท้อง บางคนอาจมีความรู้สึกว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะ วูบวาบในใจ ตกใจหรือแน่นที่หน้าอก จุกที่อกหรือจุกที่คอเหมือนมีอะไรมากดทับ อาการที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันไปตามพื้นฐานสภาพจิตใจของแต่ละคน และจะค่อย ๆดีขึ้นภายใน  5- 7 วัน น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวอีกว่า อาการใจหายหลังรู้ข่าวสามารถเกิดขึ้นได้กับประชาชนทุกคน กลุ่มคนที่อาจเกิดผลกระทบทางจิตใจได้มากกว่าคนทั่วไปคือ กลุ่มที่จิตใจเปราะบางอยู่เดิม ได้แก่ 1. ผู้ที่มีความเครียดเป็นทุนเดิมมาก่อนอยู่แล้วทั้งจากสภาพเศรษฐกิจหรือสูญเสียคนรักในครอบครัว   2.ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าหรือเป็นโรคซึมเศร้าอยู่เดิมซึ่งทั่วประเทศมีประมาณ 1.5  ล้านคน และ  3.กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังทางกายประจำตัวเช่นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น หากเป็นมากจนถึงขั้นรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน  มีความทุกข์ทรมานในช่วงที่ยังไม่ถึงเวลาถวายพระเพลิงพระบรมศพ เช่นเครียดจนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ปวดเมื่อย ปวดท้อง ปวดศีรษะที่หาสาเหตุไม่ได้ ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่งเพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง ประการสำคัญ ขอให้ผู้ที่มีโรคประจำตัวทุกโรคกินยาให้ต่อเนื่องครบจำนวนตามที่แพทย์สั่ง อย่าขาดยา เพราะยาจะช่วยควบคุมอาการให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถใช้ชีวิตได้ไม่ต่างจากคนทั่วไป ประชาชนทั่วไปในช่วงแรก ๆ หลังรู้ข่าวก็อาจเกิดอาการได้บ้าง แม้ว่าจะได้เตรียมใจมาก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม แต่อาการจะค่อย ๆดีขึ้นเรื่อย ๆและหมดไป อย่างไรก็ดี ขอให้หมั่นสังเกตสภาพจิตใจตนเองหรือบุคคลใกล้ชิด หากมีอาการวูบวาบ หายใจไม่อิ่ม ใจสั่น เป็นมากถึงขั้นนอนไม่หลับ ปวดศีรษะ หายใจไม่ทั่วท้องเกิดขึ้นนานเกิน  7 วันจนทำงานทำการไม่ได้ถือว่ามีความผิดปกติควรได้รับการช่วยเหลือทางจิตใจ ขอแนะนำให้ไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือปรึกษาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือโทรปรึกษานักจิตวิทยาทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24ชั่วโมง น.ต.นพ.บุญเรืองกล่าวต่อว่า ก่อนจะถึงช่วงเวลาแห่งการถวายพระเพลิงขอแนะนำประชาชนให้ตั้งสติ เตรียมความพร้อมทั้งกายและใจดังนี้ 1. ตั้งใจ ตั้งสติหมั่นทำกิจกรรมที่เป็นสาธารณกุศลเช่น การเป็นจิตอาสาช่วยในด้านต่าง ๆ การทำดอกไม้จันทน์ การร่วมทำบุญบริจาคหรือกิจกรรมอื่นๆตามแต่กำลังของตน 2. ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน แล้วนำเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตประจำวันโดยเฉพาะการยึดแนวปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง จะทำให้เกิดความสุขใจที่ยั่งยืน 3. ติดตามข่าวสารจากทางราชการเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และความภาคภูมิใจแต่ตนเองและครอบครัว 4. พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้พัก 5. หมั่นออกกำลังกาย ทำกิจกรรมที่คลายเครียดต่าง ๆ และ 6. ใช้เวลาว่างทำกิจกรรมกับครอบครัวให้เป็นประโยชน์ ไม่อยู่คนเดียว “หากเรามีความทุกข์ใจ มีอุปสรรคต่างๆในชีวิตหรือการดำเนินชีวิตก็ขอให้มองไปที่รูปของพระองค์เสมือนพระองค์ท่านยังคอยเป็นกำลังใจให้พวกเราประชาชนชาวไทยได้ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ให้พร้อมต่อสู้สำหรับการดำเนินชีวิตต่อไป” น.ต.นพ.บุญเรืองกล่าว

Tag :