กิน “กะเพรา” ต้านเบาหวาน

by ThaiQuote, 20 ตุลาคม 2560

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า โรคเบาหวานในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน หมายถึง ภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เกิดจากความบกพร่องของตับอ่อน และฮอร์โมนอินซูลินในร่างกาย อาการสำคัญที่สังเกตได้ของโรคเบาหวาน คือ ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะในตอนกลางคืน หิวบ่อย กระหายน้ำบ่อย มีอาการชาปลายมือปลายเท้า หากมีบาดแผล มักจะหายช้า ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน ส่งผลให้จอประสาทตาเสื่อม เกิดแผลกดทับ ติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะติดเชื้อรา และเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของความพิการตามมา ทั้งนี้วิธีการป้องกันการเป็นโรคเบาหวาน หรือในกรณีของผู้ที่เป็นเบาหวานแล้วอยากจะควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดนั้น สามารถใช้พืชผักสมุนไพรที่อยู่ใกล้ตัวเราเป็นตัวช่วยได้ โดยรายงานการวิจัยพบว่า มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในสัตว์ทดลองที่เป็นเบาหวาน และหลายชนิดผลการศึกษาวิจัยมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวาน เช่น กะเพรา ตำลึง มะระขี้นก ผักเชียงดา สำหรับ กะเพรา สมุนไพรยอดฮิตที่คนไทยนิยมรับประทานกัน ในทางการแพทย์อายุรเวทของอินเดีย ถือว่ากะเพรา เป็นสมุนไพรศักดิ์สิทธิ์ มีสรรพคุณหลากหลายในการแพทย์อายุรเวท เช่น บรรเทาอาการไอ หวัด และการติดเชื้อทางเดินหายใจ ช่วยย่อยอาหาร บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยลดอาการที่เกิดจากความเครียด เพิ่มความจำ เพิ่มภูมิคุ้มกัน  งานวิจัยของอินเดียชี้ให้เห็นว่า  การรับประทานผงใบกระเพราแห้งในปริมาณ 2.5-3 กรัม วันละ 1 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานได้ หรือให้รับประทานในปริมาณ 6 กรัม วันละ 2 ครั้ง ก่อนและหลังอาหารเช้า ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดสูงและลดไขมันในเลือดสูงได้ ในส่วนสารสกัดด้วยน้ำของใบกะเพราขนาด 5 มิลลิลิตร ดื่มวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร สามารถลดน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในผู้ป่วยกลุ่มอาการอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) ได้ และยังพบว่าประมาณ 63% ของผู้ป่วยเบาหวานที่ดื่มน้ำต้มกะเพรา วันละ 700 มิลลิลิตร โดยต้มต้นกะเพราแห้ง 20 กรัม ในน้ำ 1 ลิตร แล้วกรองดื่ม ตอบสนองต่อฤทธิ์ลดน้ำตาลได้ดี ขณะที่งานวิจัยทางเคมีพบว่าสารสำคัญที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในกะเพราเป็นสารกลุ่มไทรเทอร์พีนอยด์ จากงานวิจัยเหล่านี้จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยเบาหวานหรือกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะเป็นเบาหวาน สามารถนำใบกะเพรามาใช้เป็นอาหารในวิถีชีวิตประจำวันได้ อย่างไรก็ตามข้อแนะนำกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานยาแผนปัจจุบัน การจะนำกะเพราไปใช้ร่วมกับยาอื่นอาจต้องใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ หรือปรับลดยาแผนปัจจุบันลง  ซึ่งต้องกระทำโดยแพทย์เจ้าของไข้ เพื่อป้องกันภาวะช็อกจากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ

Tag :