เสนอนำร่อง กทม. ติดตั้ง “ถังแดง” ทุกหมู่บ้าน-คอนโดฯ แยกจุดทิ้ง “ขยะติดเชื้อ”

by ThaiQuote, 6 กันยายน 2564

4 องค์กร ร่วมหาทางออกแก้ไขปัญหา “ขยะติดเชื้อ” จัดจุดวาง “ถังแดง” แยกทิ้งเฉพาะ ไม่ปะปนขยะทั่วไป เตรียมเสนอนำร่อง ในพื้นที่กทม. ทุกหมู่บ้าน-คอนโดมิเนียม ห่วงขยะเล็ดลอดลงสู่แหล่งน้ำ กระทบสิ่งแวดล้อม

 

นายอภิภพ พึ่งชาญชัยกุล รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า 4 องค์กรหลัก ได้แก่ กลุ่มพลาสติก ส.อ.ท., ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เช่น สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย ฯลฯ เตรียมหารือเพื่อวางแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะติดเชื้อภายในบ้านที่อยู่อาศัย อาคารคอนโดมิเนียม หอพัก ฯลฯ

 

 

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่มี ปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน จากมาตรการของรัฐ ที่กำหนดให้ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่รุนแรงกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) แต่การบริหารจัดการขยะติดเชื้อยังขาดประสิทธิภาพ

โดยที่ผ่านมา โควิด-19 ที่ระบาดในระลอกที่ 2 เริ่มพบปัญหาขยะติดเชื้อ โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย (Mask) ที่คนต้องใช้เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดขยะเล็ดลอดหลุดไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติ กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

เมื่อมีการระบาดของโควิดระลอกที่ 3 ซึ่งผู้ป่วยที่ติดเชื้อไม่รุนแรงต้องเข้าระบบรักษาที่บ้าน (Home Isulation) ซึ่งไม่เพียงแค่หน้ากากอนามัย แต่ยังมีชุดตรวจโควิด-19 (ATK) เป็นขยะติดเชื้อที่ถูกทิ้งเพิ่มขึ้น ซึ่งหากจัดการไม่ดีจะสร้างปัญหาทั้งสิ่งแวดล้อมและการติดเชื้อเพิ่มได้

 

 

ดังนั้น เบื้องต้น จะเสนอนำร่องใน กทม. โดยขอความร่วมมือในการให้ทางหมู่บ้านจัดสรร นิติบุคคลจัดหา ถังแดง มาวางไว้เพื่อให้ลูกบ้านมาทิ้งขยะติดเชื้อแล้วประสานรถ กทม.มารับไปกำจัด แบบวัน/วัน หรือมากสุด 2 วัน/ครั้ง ซึ่งขยะติดเชื้อจำเป็นต้องนำกำจัดด้วยวิธีการเผาเท่านั้น

และที่ผ่านมาขยะเหล่านี้จะอยู่ในโรงพยาบาลที่มีระบบกำจัดรองรับไว้แล้วเป็นหลัก แต่เมื่อโควิด-19 ทำให้ขยะเหล่านี้กลายมาอยู่ในภาคบ้านที่อยู่อาศัยมากขึ้น

 

 

แต่ปัจจุบันการคัดแยกขยะยังจัดการไม่ได้ผลนักเพราะแม้บางบ้านจะใส่ Mask และ ATK ในถุงแดงแต่สุดท้ายก็จะไปกองรวมกันในถังขยะทั่วไปกลายเป็นขยะปกติที่จะไปกองรวมในหลุมฝังกลบ กทม. ซึ่งมีโอกาสเล็ดลอดไปสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกสูง

สำหรับข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ก.ย. พบว่าในพื้นที่ กทม. มีขยะติดเชื้อทั้งหมด 125,760 กก. โดยแยกเป็นมูลฝอยติดเชื้อทั่วไป 70,870 กก. และมูลฝอยติดเชื้อโควิด 54,890 กก.

นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่ขยะติดเชื้อที่มีมากขึ้นเท่านั้น แต่ขยะพลาสติกเองก็มีปริมาณมากขึ้นเช่นกัน จากการใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์ ซึ่งมีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการคัดแยกขยะเพื่อกำจัดถูกวิธีคือคำตอบที่ดีสุด

 

เรื่องที่น่าสนใจ

เช็ก ความพร้อม “หัวหิน” รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่ต้องกักตัว “หัวหิน รีชาร์จ” 1 ต.ค.นี้