จากชุบชีวิต“ SMEs” ถึงกู้ชีพ “Turn around” พันธกิจนอกรั้วช่วยศก.ชาติ รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมทร. ธัญบุรี (ตอน 2)

by ThaiQuote, 22 กรกฎาคม 2559

โดยท่านอธิการบดีได้กรุณาเล่าถึงความเป็นมาตลอดจนมาตรการในการให้ความช่วยเหลือของมหาวิทยาลัยที่มีต่อกลุ่ม Start up  ที่ถือเป็นอีกมิติในความสำเร็จของมหาวิทยาลัย 

ถึงตอนนี้เราจะมาตามกันต่อกับพันธกิจที่ รศ.ดร.ประเสริฐได้กล่าวสำหรับกลุ่มที่สองนั่นคือกลุ่ม Turn around โดยอธิการบดีบอกว่ากลุ่มนี้มทร.ธัญบุรีกับสสว.เป็นเจ้าภาพหลัก โดยร่วมกับ SME Bank ,สมาพันธ์เอสเอ็มอี พร้อมอธิบายความต่อว่ากลุ่ม Turn around คือกลุ่มซึ่งจดทะเบียนทำธุรกิจแล้วแต่เมื่อทำไประยะหนึ่งปรากฏว่าผลประกอบการไม่โต สองมีปัญหาในเรื่องการผลิต ปัญหาการหมุนเวียนของกระแสเงิน แนวโน้มจะเป็นหนี้เสียหรือแนวโน้มธุรกิจจะไปไม่ได้ 

“กลุ่มนี้เราได้ลูกค้าจาก SME Bank เป็นเจ้าหลัก ก็คือเขากู้จาก SME Bank สองกู้จากธนาคารของรัฐจะเป็นธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทยหรือในกลุ่มซึ่งเขากู้อยู่โดยธนาคารฯจะคัดมา เสร็จแล้วก็ให้เราเข้าไปเป็นที่ปรึกษา ขณะนี้เราระดมไปทุกภาคนะครับ ภาคกลางจัดไป 2 ครั้ง ภาคเหนือ 1 ครั้ง ภาคอีสาน 1 ครั้ง ตะวันออก 1 ครั้งแล้วก็ภาคใต้ 1 ครั้งก็จะไปพบผู้ประกอบการในภาพใหญ่ ๆประมาณ 2,000 – 3,000 ราย”

รศ.ดร.ประเสริฐ ยังได้กล่าวต่อว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้ประกอบการในกลุ่ม Turn around ส่วนใหญ่ไม่ใช่มีปัญหาในเรื่องของกระแสเงิน เดิมเราคิดว่าเขาคงจะกู้ติดขัดหรือต้องกู้เพิ่มแต่ส่วนใหญ่กลับมีปัญหาในเรื่องเกี่ยวกับต้นทุนการผลิต มีปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการที่จะใช้เทคโนโลยีในการผลิตเพื่อลดต้นทุน มีปัญหาเกี่ยวกับความเป็นมาตรฐานหรือ Standard โดยเฉพาะเรื่องอาหาร 

แล้วก็มีปัญหาอีกเรื่องหนึ่งก็คือ บางครั้งเขาไม่รู้วงจรการบริหาร การจัดการระบบการตลาดซึ่งขณะนี้เราทำซอฟแวร์ภายใต้สยามเอสเอ็มอีร่วมกับสสว.เพื่อเป็นตลาดออนไลน์ให้กับกลุ่ม Start up และ Turn around ก็ต้องขอขอบคุณทางสสว.ที่ให้งบประมาณมา มีการพัฒนาร่วมกันแล้ว อีกส่วนหนึ่งเขามีปัญหาในทางการเงินเราก็ทำแผนธุรกิจให้แล้วก็ส่งไปให้ SME Bank วิเคราะห์ เมื่อแบงค์วิเคราะห์แล้วและได้เงินซัพพอร์ตจากรัฐบาลก็จะให้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาทโดยคิดศูนย์เปอร์เซ็นต์สำหรับดอกเบี้ย แล้วให้ผ่อนยาว 5 ปี นี่ก็จะเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งได้ช่วยกลุ่ม  Turn around  

“กลุ่ม Turn around  นี่เรามีพันธมิตรมหาวิทยาลัยทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด 40 มหาวิทยาลัยขณะนี้ ซึ่งจะเป็นที่ปรึกษาในแต่ละพื้นที่ โดยเราจะลงไปหาในสถานที่ประกอบการเอง สองเรามีที่ปรึกษาหลักอีกกลุ่มหนึ่งก็คือกลุ่มสมาพันธ์เอสเอ็มอี เขาจะเป็นนักธุรกิจในส่วนของแต่ละภูมิภาค แต่ละจังหวัด ร่วมกับหอการค้าจังหวัด บางเรื่องที่อาจารย์อาจจะไม่มีความถนัดและชัดเจนเราจะมอบให้สมาพันธ์เอสเอ็มอีหรือหอการค้าเข้าไปเป็นที่ปรึกษาร่วม จากที่เราเข้าไปอยู่ในพื้นที่ก็พบว่าเขาเกิดปัญหาในเรื่องเกี่ยวกับวงจรการผลิตเยอะมาก ซึ่งต้องยอมรับว่าเอสเอ็มอีเป็นผู้ประกอบการซึ่งมีความตั้งใจสูงแต่บางครั้งขาดประสบการณ์ แล้วก็ไม่ได้เข้ามาหาในส่วนซึ่งเขามีความรู้ความสามารถ เช่นวิ่งเข้ามาหานักวิชาการในมหาวิทยาลัย เป็นเรื่องซึ่งเขายังมีความรู้สึกว่ามีอะไรกั้นเขาอยู่ เขาก็จะใช้ในสิ่งซึ่งแก้ไขเอง คิดเอง หรือไปปรึกษา ให้บริษัทต่าง ๆมาทำ ก็จะมีต้นทุนที่สูง บางครั้งก็ถูกบ้างผิดบ้าง” 

อธิการบดีมทร.ยังได้กล่าวต่อถึงมาตรการในการเข้าไปให้การช่วยเหลือ โดยยกกรณีตัวอย่างว่า ขณะนี้เราได้ส่งอาจารย์จากคณะวิศวกรรมเข้าไปช่วยดูแล เช่นกรณีมีภาคอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งทำทางด้านสมุนไพรสกัดอยู่ที่ขอนแก่น ผู้ประกอบการรายนี้เป็นนักวิชาการเรียนจบปริญญาโท มุ่งมั่นแต่เรื่องห้องผลิตที่จะได้จีเอ็มพี ลงทุนเรื่องการผลิตไปประมาณ 4-5 ล้านบาท แต่กลับมียอดขายที่ไม่ตรงเป้า เราก็บอกไปว่าไม่ต้องลงทุนอะไรแล้ว บางเรื่องส่ง Lap test ที่มหาวิทยาลัยซึ่งจะช่วย test ให้ฟรีในเบื้องต้น มาส่งบางส่วนทำโรงงานยาที่ราชมงคลธัญบุรีแล้วกลับไปผสมไปค้าขาย วันนี้เขามีความเข้าใจว่าเขาสามารถจะลดต้นทุนก็คือว่า ไม่ต้องทำทุกอย่างในโรงงานแต่มีการเอาท์ซอสไปที่มหาวิทยาลัยก่อน ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงทุกมหาวิทยาลัย มีแล็ปเคมี มีแล็ปต่าง ๆแล้วก็มีผู้เชี่ยวชาญ 

“วันนี้เขาไปต่อยอด ความกังวลเขาจากสิ่งที่ต้องมากังวลเรื่องผลิตไป ทำเรื่องตลาด จริง ๆแล้วเขามีโรงงานมาตรฐานจีเอ็มพีแล้ว วันนี้เขาไปมุ่งตลาด การทำการตลาดเขาใช่ต้องลดราคา เราบอกไม่ต้องลดราคา เรามีคุณภาพ มีการทดสอบทดลองที่ได้มาตรฐาน มีผลให้ลูกค้ารู้สึกว่าใช้แล้วไม่อันตราย วันนี้เขาขายราคาเดิมไม่ได้ลดราคา มียอดขายโตขึ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ นี่ก็คือกลุ่ม Turn around  ที่เขากลับอยู่ได้ แล้ววันนี้เขาก็มีที่ปรึกษาทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยมทร.ธัญบุรี ทั้งอาจารย์ที่อยู่มทร.อีสาน มีอาจารย์ซึ่งอยู่ในม.ขอนแก่นแล้วก็มีเพื่อนเอสเอ็มอีด้วยกันนี่เป็นตัวอย่าง” 

ยังไม่จบ แต่ยังมีรายละเอียดที่กำลังจะเข้มข้นมากยิ่งขึ้น อดใจไว้ตามกันต่อนะครับแล้วจะบอกว่าคุ้มค่ากับการรอคอยจริง ๆ สำหรับบทสัมภาษณ์พิเศษจากท่านอธิการบดีที่ชื่อ รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ แล้วพบกันใหม่ในตอนที่ 3