อั๊ยยะ ! ปลากุเลาเค็มตากใบ – โคขุนโพนยางคำขึ้นทะเบียนจีไอ

by ThaiQuote, 30 กันยายน 2559

อย่างไรก็ตามกรมฯมีแผนเร่งส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสินค้าที่มีศักยภาพเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์อย่างน้อย 1 สินค้าต่อ 1 จังหวัด พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายให้ครบ 77 จังหวัด ภายในปี 60 โดยปี 59-60 นี้ มีแผนที่จะลงพื้นที่ใน 10 จังหวัดที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนจีไอ หรือยื่นคำขอเพื่อขึ้นทะเบียนได้แก่กทม. กระบี่ กาญจนบุรี ระนอง สตูล สมุทรสาคร สระแก้ว สิงห์บุรี นครสวรรค์ และกำแพงเพชร

          สำหรับปลากุเลาเค็มตากใบนั้น ได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งปลาเค็มเนื่องจากเป็นปลาเค็มที่รสชาติไม่เค็มจัด เนื้อฟู มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ผลิตจากปลากุเลาสดในท้องถิ่น เป็นพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ท้องทะเลอุดมสมบูรณ์ เพราะอยู่ติดกับแม่น้ำตากใบ และแม่น้ำสุไหงโกลก ทำให้ชายฝั่งทะเลแถบอ.ตากใบ มีแพลงก์ตอนจำนวนมากเป็นอาหารของปลากุเลา ขณะที่ผลิตตามกรรมวิธีที่สืบทอดกันมากว่า 100 ปี ใช้กระดาษผูกมัดห่อหัว ปิดปากปลา เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงเข้าไปวางไข่ หรือกัดกินได้ แล้วตากแดด ด้วยการห้อยหัวลง เพื่อให้น้ำออกจากตัวปลา จึงทำให้ปลากุเลาเค็มตากใบสะอาด ปราศจากแมลง และอร่อยเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนแหล่งอื่น ๆ ได้รับความนิยมทั้งในพื้นที่ และต่างจังหวัด ตลอดจนประเทศใกล้เคียง เป็นของฝากที่มีคุณค่า จนมีคำพูดติดปากว่า คนกินไม่ได้ซื้อ คนซื้อไม่ได้กิน เนื่องจากนิยมซื้อเป็นของฝากมากกว่านำมารับประทานเอง เพราะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 1,200-1,500 บาท

          ส่วนเนื้อโคขุนโพนยางคำนั้น เป็นเนื้อโคขุนคุณภาพสูงที่บ่มในห้องเย็น มีไขมันแทรกในปริมาณที่เหมาะสม ทำให้มีความนุ่ม มัน หวาน หอม อร่อย โดยจะผลิตจากโคเนื้อลูกผสม ระหว่างโคสายพันธุ์ยุโรป กับโคสายพันธุ์พื้นเมือง พร้อมทั้งผ่านกระบวนการเลี้ยง ในพื้นที่ราบสูง และที่ราบลุ่มลอนคลื่นที่ตั้งระหว่างเทือกเขาภูพาน กับแม่น้ำโขง หรือที่เรียกว่าแอ่งสกลนคร ซึ่งเหมาะสมกับการเลี้ยง และขุนโคเพื่อให้มีไขมันแทรกในกล้ามเนื้อได้ดี รวมทั้งการแปรสภาพ ตัดแต่งอย่างถูกสุขลักษณะ ตามมาตรฐานสากล ตามข้อกำหนดของสหกรณ์ฯ โพนยางคำ ส่งผลให้ได้เนื้อที่นุ่ม อร่อย ขายได้ในราคาสูง เนื้อสันใน กก.ละ 1,100-1,200 บาท