หุ่นยนต์เพื่อนรัก ROBOTICS ANYWHERE

by ThaiQuote, 30 ธันวาคม 2559

เมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) จำกัดในเครือสหพัฒน์ ซึ่งได้นำหุ่นยนต์ "ดินสอ" ที่พูดได้ถึง 5 ภาษา พัฒนาโดย บริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด มาเป็นหุ่นยนต์บริการการขายตัวแรกของโลก ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยให้กับพนักงานขายสินค้า


               เพราะโลกทุกวันนี้ต้องการความเป็น "อัตโนมัติ" ในทุกสถานการณ์ นวัตกรรมหุ่นยนต์จึงยังถูกพัฒนามาอย่างไม่เคยหยุดนิ่ง ตั้งแต่ยุคแรกของหุ่นยนต์ที่ถูกควบคุมโดยมนุษย์มาถึงยุคที่ 2 หุ่นยนต์ที่สามารถทำตามแผนงานหรือชุดคำสั่งเท่านั้น เช่นตุ๊กตาไขลานเล่นดนตรีหรือมายากล ถัดมาคือเครื่องจักรกลอัตโนมัติในยุคอุตสาหกรรม 2.0 เป็นหุ่นยนต์ที่ตั้งโปรแกรมล่วงหน้าให้ทำงานตามคำสั่งและเก็บข้อมูลในหน่วยความจำ มาถึงยุค 3.0 ที่หุ่นยนตร์สามารถเชื่อมต่อการทำงานและสื่อสารกันเองได้

               เมื่อหุ่นยนต์มีความฉลาดมากขึ้น เข้าใจมนุษย์มากขึ้นจึงมาถึงยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่ทุกคนกำลังกล่าวถึง ภายใต้ คำที่สละสลวยอย่าง "ปัญญาประดิษฐ์" (Artification Intelligent, AI)

               สหรัฐฯมีแผนการพัฒนาหุ่นยนต์โดยเน้นไปที่ 6 สาขา เริ่มจากสาขาการผลิตและโรงงานอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0 สาขาการแพทย์ ที่มีหุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทอย่างมาก สาขาสาธารณสุขและกายภาพ เช่นหุ่นยนต์นักกายภาพบำบัด สาขาการบริหาร เช่น หุ่นยนต์ตรวจสอบโรงงาน หุ่นยนต์ช่วยทำความสะอาดภายในบ้าน หรือหุ่นยนต์อย่างเจ้า “ดินสอ” สาขาอากาศยานและการเคลื่อนที่อัตโนมัติเช่น โครงการหุ่นยนต์ไปดาวอังคาร และ สาขาความปลอดภัย เช่นหุ่นยนต์และเครื่องบินเสี่ยงภัยในพื้นที่สงคราม (ที่มา : A Roadmap for U.S. Robotics From Internet to Robotics 2013)

               แล้วหุ่นยนต์ก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตในทุกแง่มุม ฟังดูแล้วนับว่ามีแต่เรื่องดี ๆ รออยู่ เหลือเพียงความสัมพันธ์แบบมนุษย์ที่ยังไม่อาจจะเลียนแบบได้


          แม้จะมี “คิโรโบะ มินิ” (Kirobo Mini) โดย โตโยต้า ที่เกิดมาเป็นเพื่อนคนขี้เหงา เพราะมันเคยถูกส่งไปยังสถานีอวกาศนานาชาติในปี 2013 เพื่อเป็นเพื่อนคุยให้กับผู้บังคับการชาวญี่ปุ่น “โคอิชิ วากาตะ” มาก่อน และยังเกิดมารองรับปรากฏการณ์ “ฮิคิโคโมริ” หรือปัญหาการแยกตัวจากสังคมในญี่ปุ่นซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น

               ไม่รู้ว่าหุ่นยนต์ที่เป็นเพื่อนมนุษย์ได้จริง ๆจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่วันนี้มนุษย์ได้ยอมรับหุ่นยนต์เป็นเพื่อนแล้ว

โดย ศิริพร ค่านคร