ระดมพลังนักวิจัยขับเคลื่อน Thailand 4.0

by ThaiQuote, 17 มกราคม 2560

เมื่อวันศุกร์ที่ 13 มกราคม 2560นี้ ผมได้ไปร่วมบรรยายพิเศษเรื่อง Thailand 4.0 ในการประชุมนักวิจัยรุ่นใหม่พบเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นกลุ่มนักวิจัยทั่วประเทศมากกว่า 500 ท่าน ผมได้บรรยายถึงการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ในทางปฏิบัติ และฝากถึงทิศทางของการวิจัยในอนาคตให้ตอบโจทย์ของประเทศ เนื้อหาการบรรยายสรุปได้ดังนี้ครับ Thailand 4.0 เป็นโมเดลที่จะนำพาประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง กับดักความเหลื่อมล้ำ และกับดักความไม่สมดุล อนาคต Thailand 4.0 คือสังคมที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง การสร้างคนเพื่อให้ยั่งยืน ทุกคนต้องมีการพัฒนาตนเองเป็นหัวใจสำคัญ หัวใจสำคัญของ Thailand 4.0 อยู่ที่คนไทย โจทย์สำคัญของการสร้างคนไทย 4.0 ได้แก่คนไทยจะต้องมีความรู้ ทักษะ มีความสามารถสูงและสามารถนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมได้ เป็นคนไทยมีจิตสาธารณะ เป็น Digital Thai คนไทยที่สามารถใช้ประโยชน์จากดิจิทัลได้ในสาขาอาชีพต่าง ๆ รวมทั้งการทำให้คนไทยสากล (Global-Thai) โจทย์วิจัยเหล่านี้มีความสำคัญ ไม่เพียงเท่านั้นจะต้องมีการสร้างสังคมความรู้และการแบ่งปันความรู้ด้วย จึงจะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง สำหรับในภาพรวมของ Thailand4.0 โจทย์สำคัญที่จะต้องขับเคลื่อน ต้องเน้นทั้งเรื่องการสร้างคน สร้างวิสาหกิจ สร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ Research Agenda คือ การเปลี่ยนThailand 3.0 ไปสู่ Thailand 4.0 ได้อย่างไร ด้วยการใช้หลักคิดให้มีการทำน้อยได้มาก มีองค์ความรู้ งานวิจัยเข้าไปสนับสนุนให้ทิศทาง Thailand 4.0 เกิดสัมฤทธิ์ผลได้ โจทย์สำคัญคือการสร้างสมดุลตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงทั้งสี่มิติ ทั้งเรื่องความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความอยู่ดีมีสุขของสังคม การรักษ์สิ่งแวดล้อม และศักยภาพและคุณค่าของมนุษย์ ใน Thailand 4.0 ได้กำหนดตัววัดไว้ในมิติต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนและนำไปสู่การเป็น Thailand 4.0 ดังนั้นในการทำวิจัยการพัฒนาเอง จึงต้องมีตัววัดที่ชัดเจน ถึงจะเห็นผล ต้องทำการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร ประเทศ และโลก What to Do? การก้าวสู่ Thailand 4.0 ประเทศไทยต้องผลิตเมล็ดพันธุ์ชุดใหม่ ด้วยการเตรียมคนไทย 4.0 สู่โลกที่หนึ่งนำไปสู่การปักชำสู่รากแก้วด้วยการสร้างวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม นำไปสู่การพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมและภาคบริการเป้าหมายซึ่งต้องขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ส่วนหนึ่งพัฒนาขึ้นด้วยประเทศไทยเองด้วย ทั้งนี้การจะแผ่ขยายกิ่งก้านสาขาได้ต้องเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจผ่าน 76 จังหวัด ซึ่งจะเป็น Growth Engine สำคัญของไทย รัฐบาลคาดหวังจะให้มี Growth Engine หลาย ๆแห่งทั่วประเทศ ที่อาจมีหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศ ระดับอาเซียน หรือบางกลุ่มจังหวัดอาจเป็น Growth Engine ระดับโลกได้ มีความหลากหลาย สุดท้ายที่สำคัญคือ การที่ประเทศไทยจะต้องเชื่อมโยงกับอาเซียนและโลก เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมาท่านนายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานเรื่อง “การเตรียมการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง ซึ่งที่ประชุมมีมติจัดตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง” (ป.ย.ป.) โดยผมเป็นเลขานุการ และป.ย.ป. มี 4 คณะที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อน ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มียุทธศาสตร์ชาติที่ชัดเจน แต่ต่อจากนี้ไป Thailand4.0 จะเป็นกรอบแนวคิดยุทธศาสตร์ที่จะทำให้เราเดินไปข้างหน้าโดยต้องมีการปฏิรูป และมีการสร้างความปรองดองร่วมด้วย วาระในเชิงนโยบาย 3 เรื่อง คือ ซ่อม เสริม สร้าง มีหลายสิ่งที่ต้องซ่อม มีหลายสิ่งที่ต้องเสริม และมีบางเรื่องที่ไทยต้องสร้างใหม่ ดังนั้นการวิจัยพัฒนาของประเทศไทยต่อไปจะต้องมีการวิจัยที่มีโจทย์ เรื่อง ซ่อม เสริม สร้าง ตัวอย่างเช่น โจทย์ที่ท่านนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเรื่องสมุนไพร ดังนั้นไทยจะต้องมีการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ วิจัยเลือกสมุนไพรที่เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง และนำไปสู่การขยายผล เป็นต้น การวิจัยจากนี้ไปจะต้องมองทั้งมองสั้น-มองยาว สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 20 ปี หรือกล่าวเปรียบเทียบได้เสมือนกับการมองด้วยเหรียญสองด้าน นั่นคือมีความมุ่งมั่นในการมุ่งไปสู่จุดหมาย พร้อมๆ กับการปรับเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อมด้วย ดังนั้นการวิจัยต้องเห็นผลทันที บางเรื่องอาจเห็นผลใน 2-3 ปีข้างหน้า บางเรื่องอาจเห็นผลในระยะยาว 5-10 ปี Thailand 4.0 จะมี 10 ประเด็นยุทธศาสตร์และนโยบายระดับบัญชาการ หรือ PM Agenda ประกอบไปด้วย 5 วาระยุทธศาสตร์ (เตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 สร้างวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม พัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมและภาคบริการเป้าหมาย เสริมความเข้มแข็งผ่าน 18 กลุ่มจังหวัดและ 76 จังหวัด การเชื่อมประเทศไทยสู่ประชาคมโลก) แต่เพียง 5 วาระเท่านั้นไม่พอ ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีด้วย 4 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ โครงสร้างพื้นฐานเชิงเครือข่าย โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา โครงสร้างพื้นฐานทางสังคม และสุดท้าย คือการมีกลไกการบริหารจัดการที่ดี โจทย์ในการวิจัยต้องตอบโจทย์ประเทศให้ได้ วัดอย่างไร มี milestone , roadmap, key success factors อย่างไร จะปลดล็อคได้อย่างไร จึงมีการตั้งเป็น PM Targets ทุกสิ่งทุกอย่างของประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคน ต้องเป็น Reform in Action วาระการปฏิรูปของ สปช. สปท. จะนำมาสู่การดำเนินการ โดยจะมีการกรั่นกรองวาระการปฏิรูปสำคัญๆ นักวิจัยเองก็จะถูกปฏิรูปผ่านโจทย์การวิจัย นอกจากนี้รัฐบาลชุดนี้ยังให้ความสำคัญกับกลไกประชารัฐ ต่อจากนี้ไปนักวิจัยต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชน รัฐบาล มากขึ้น ผมจึงเห็นว่าต่อจากนี้ไปงานวิจัยจะต้องเป็น 1. งานวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการอุปสงค์ประเทศ (Demand Side) ต้องเน้นงานวิจัยเชิงพาณิชย์และนวัตกรรม ตอบโจทย์ประเทศมากขึ้น 2. Very Focus มีจุดเน้นที่ชัดเจน มีความเก่งความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง ต้องตั้งเป้าว่าจะเป็น Global niche จึงต้องทำวิจัยให้ Very Focus ไม่ใช่ทำทุกอย่างแต่ไม่ดีสักอย่าง 3. Collaboration การร่วมมือกันกับภาคส่วนต่าง ๆ กับพื้นที่ให้มากขึ้น ซึ่งในรายงานพิมพ์เขียว Thailand 4.0 ได้กล่าวถึงประเด็นที่จะขับเคลื่อนการวิจัยในพื้นที่โดยให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่สั่งสมองค์ความรู้ในพื้นที่ตอบโจทย์ของพื้นที่ด้วย และในประเด็นนี้เองท่านนายกรัฐมนตรีก็เคยให้ข้อแนะนำต่อยอดว่า ควรเชื่อมโยงความร่วมมือกับหน่วยงาน มหาวิทยาลัยระดับโลก สุดท้ายนี้จึงขอฝากไว้ว่า Thailand4.0 เป็น Social Movement ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ที่ทุกคนจะพัฒนาตนเอง พวกเราทุกคนเป็นคนที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 ครับ โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
Tag :