“ประชารัฐ” เดินหน้าเศรษฐกิจชีวภาพ 10 ปี ลงทุน 4 แสนล้าน

by ThaiQuote, 23 มกราคม 2560

    ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ เปิดเผยในการเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ภายใต้โครงการสานพลังงานประชารัฐด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคตว่า เป็นการประกาศเจตนารมณ์ภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาและวิจัยในการสร้าง Bioeconomy เศรษฐกิจลูกใหม่ตามนโยบายประชารัฐ สู่การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม New S-Curve ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 โดยใช้พืชเศรษฐกิจที่ไทยมีความพร้อมอยู่แล้ว อาทิ มันสำปะหลังและอ้อยเป็นพืชนำร่อง เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง (Biorefinery)

          “จะสร้างเมืองใหม่บนเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมครบวงจร (Biopolis) พร้อมประกาศแผนการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพในระยะเวลา 10 ปี มูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาท ทั้งนี้ในเฟสที่ 1 ระหว่างปี 2560-2561 มีเม็ดเงินลงทุนจำนวน 51,000 ล้านบาท สามารถเริ่มต้นได้ทันทีที่จังหวัดระยอง พร้อมขยายสู่เขตอีสานตอนกลาง ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง"นายสมคิดกล่าว

          ทั้งนี้มันสำปะหลังและอ้อย เป็นสินค้าเกษตรไทยที่ส่งออกเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก เป็นตัวนำร่อง ซึ่งจะก่อให้เกิดอุตสาหกรรมในลักษณะห่วงโซ่ที่เพิ่มมูลค่า (Value Chain ) สูงซึ่งภายใน 10 ปีจะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับอ้อยได้มากกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี มันสำปะหลังกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี โดยเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มเป็น 75,000 บาท ต่อคนต่อปี มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นทั้งในโรงงานผลิตและ การวิจัยที่เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 20,000 ตำแหน่ง และที่สำคัญ ยังเป็นการลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการใช้ฟอสซิลได้มากถึง 70 ล้านตัน

          ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้าทีมภาครัฐคณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต กล่าวว่า World Economic Forum ได้ประมาณการศักยภาพของห่วงโซ่คุณค่าของเศรษฐกิจชีวภาพของโลกว่า จะมีมูลค่าสูงกว่า 2 แสนล้านยูโร หรือ 7.5 ล้านล้านบาท ภายในปี 2563 การขับเคลื่อน Bioeconomy จะเริ่มต้นในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC: ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนการลงทุนขนาดใหญ่

          “การเริ่มต้นของ Bioeconomy สามารถเริ่มต้นได้ทันทีที่จังหวัดระยอง และจาก Roadmap ที่วางไว้จะสามารถขยายไปยังภาคอีสาน อีกด้วย” ดร.อุตตมกล่าว

          พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โครงการ Bio economy ประกอบด้วยภาคเกษตรกรรม และ 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ (1) พลังงานชีวภาพ (2) ชีวเคมีภัณฑ์ (3) อาหารแห่งอนาคต (4) อาหารสัตว์แห่งอนาคต และ (5) ชีวเภสัชภัณฑ์ โดยกระทรวงพลังงานได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพที่จะสามารถพัฒนาต่อยอด ได้ก่อน เนื่องจากได้มีการดำเนินการพัฒนามาได้ในระดับหนึ่งแล้ว ภายใต้แผนพัฒนาพลังงานทดแทน พ.ศ. 2558-2579

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า เศรษฐกิจชีวภาพเป็นทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งอนาคตของทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมให้การสนับสนุนในทุกๆด้าน ทั้งในส่วนของการร่วมวิจัยพัฒนา และการให้เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ

          นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ว่า แผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนา Bioeconomy ในระยะเวลา 10 ปี มีกรอบการลงทุนคิดเป็นมูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี 2560-2561 เงินลงทุนประมาณ 51,000 ล้านบาท เพื่อต่อยอดการพัฒนาพลังงานชีวภาพ เคมีชีวภาพ อาหาร และชีวเภสัชภัณฑ์ ผลักดันการสร้างอุปสงค์และตลาด

          ระยะที่ 2 ปี 2562-2564 เงินลงทุนประมาณ 182,000 ล้านบาท เพื่อสร้าง Biorefinery Complexes ที่ครบวงจร และเมืองใหม่บนเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมอย่างครบวงจร Biopolis และระยะที่ 3 ปี 2565-2569 เม็ดเงินลงทุนประมาณ 132,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับสู่ Regional Hub เป็นต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคตและนำไทยก้าวขึ้นเป็น Bio Hub ของโลก

Tag :