“บริหารการศึกษาเพื่อร่วมสร้างประเทศไทย 4.0”

by ThaiQuote, 25 มกราคม 2560

ผมได้รับเชิญไปเป็นองค์ปาฐกในงานปาฐกถาศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ครั้งที่ 8 ประจำปี 2560 ในหัวข้อ “การบริหารการศึกษาเพื่อร่วมสร้างประเทศไทย 4.0” ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประเด็นที่น่าสนใจอยากจะแชร์ให้ทุกท่านได้อ่านกัน และผมได้นำสไลด์ที่ผมได้นำเสนอในวันนั้นบางส่วนมาแบ่งปันทุกท่านด้วยครับ

          ในการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 นั้น “คน”ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนดังกล่าว ในอดีตที่ผ่านมานั้นการพัฒนาประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก ส่งผลให้การพัฒนาขาดความสมดุล เราแลกการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกับความทรุดโทรมของสิ่งแวดล้อม ความเสื่อมโทรมของสังคม และความล้มเหลวในการพัฒนาคน แต่ในประเทศไทย 4.0 นั้นเราจะให้ “คน” เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตามความตั้งใจของท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

         เพื่อให้ทุกท่านเห็นภาพว่าคนจะสร้างการพัฒนาให้เป็นไปอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้อย่างไร ผมขออธิบายดังนี้ครับ การจะให้คนเป็นผู้ขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศนั้นเราจำเป็นจะต้องสร้างพลวัตการเติบโตเพื่อเติมเต็มศักยภาพของคน (Growth for People) ด้วยการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ (Investment in people) โดยจะต้องลงทุนเพื่อก่อให้เกิดสังคมที่มีคุณลักษณะ 3 ประการ คือ

  1. สังคมที่สามารถคือสังคมที่คนมีความสามารถในการสร้างรายได้และประกอบธุรกิจ
  2. สังคมแห่งโอกาสคือ สังคมที่เปิดโอกาสให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกันและ 
  3. สังคมที่เกื้อกูลและแบ่งปัน คือสังคมที่คนต่างมีความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ซึ่งการจะเกิดสังคมที่มีคุณลักษณะดังกล่าว เราจะต้องสร้างคนที่เป็น “ตน” และคนที่เป็น “คน” โดยคนที่เป็นตน คือคนที่มีศักยภาพ สามารถหาเลี้ยงชีวิตได้ และรู้จักที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ส่วนคนที่เป็นคน คือคนที่เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันคนอื่นในสังคม ให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ว่า “เมื่อพร่อง ต้องรู้จักเติม เมื่อพอ ต้องรู้จักหยุด เมื่อเกินต้องรู้จักปัน” 

เมื่อคนเหล่านี้ได้รับการเติมเต็มศักยภาพอย่างเต็มที่ ก็จะเป็นพลังประชาชนที่จะกลายเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโต (People for Growth) และจะก่อให้เกิดวงจรในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนอย่างแท้จริง

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการสร้างคนเป็นสิ่งสำคัญ และเพื่อให้สามารถสร้างคนที่มีคุณภาพและเป็นไปตามที่ต้องการเราจึงต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการศึกษา โดยการบริหารจัดการการศึกษาต้องมีพลวัต (dynamic) กล่าวคือ ต้องมีความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การปฏิวัติเทคโนโลยี (Technological Revolution) จนนำไปสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน (The Age of Disruption) ดังที่ผมเคยอธิบายไปแล้ว นอกจากนั้น การบริหารจัดการการศึกษาจะต้องคำนึงถึงโจทย์ในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยใช้ 4 L Model ที่ผมเคยนำเสนอเมื่อหลายปีที่แล้ว คือ

1. Love to Learn – การสร้างให้คนรู้จักรักที่จะเรียนรู้ ผ่านการสร้าง passion และ motivation 2. Learn to Learn – การทำให้คนเข้าใจว่าจะเพราะเหตุใดต้องเรียนรู้ (Learn why to learn) ต้องเรียนรู้อะไร (Learn what to learn) ต้องเรียนรู้อย่างไร (Learn how to learn) และต้องเรียนรู้จากใคร (Learn whom to learn with)

3. Learn to Live – การสอนให้คนเรียนรู้ที่จะดำรงชีวิตอยู่ (สร้างคนที่เป็นตน) 4. Learn to Love – การสร้างให้คนรู้จักใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีปกติสุข (สร้างคนที่เป็นคน)

อีกทั้ง การบริหารจัดการการศึกษายังต้องเข้าใจและพัฒนาให้เกิด “การปรับเปลี่ยนระบบนิเวศน์การเรียนรู้” ของคนทั้งระบบ โดยจะต้อง

1. ปรับเปลี่ยนระบบนิเวศน์การเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างแรงบันดาลใจ มีความมุ่งมั่น เพื่อให้มีชีวิตอยู่อย่างมีพลังและมีความหมาย (Purposeful Learning)

2. ปรับเปลี่ยนระบบนิเวศน์การเรียนรู้เพื่อบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการรังสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ (Generative Learning)

3. ปรับเปลี่ยนระบบนิเวศน์การเรียนรู้เพื่อปลูกฝังจิตสาธารณะ ยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง มีความเกื้อกูลและแบ่งปัน (Mindful Learning)

4. ปรับเปลี่ยนระบบนิเวศน์การเรียนรู้เพื่อมุ่งการทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ (Result-Based Learning)

ผมเห็นว่า คณะครุศาสตร์ในฐานะเป็นแหล่งบ่มเพาะครูและผู้บริหารด้านการศึกษา จึงจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงแนวทางและรูปแบบในด้านการศึกษา โดยจะต้องมองการศึกษาแบบองค์รวม ไม่เพียงมองการศึกษาในมิติของการสร้างคนที่สมบูรณ์ตามหลัก 4H (Head, Hand, Health, Heath) แต่ต้องมองไปถึงการสร้างสังคมที่สมบูรณ์ด้วยตามหลัก 3H (Hope, Happiness, Harmony)

นอกจากนั้น ยังจำเป็นจะต้องสร้างครูและระบบการศึกษาที่ตอบโจทย์ของโลกในศตวรรษที่ 21 รวมถึงการสร้างระบบที่เปิดโอกาสให้คนไทยในระดับ 1.0 และ 2.0 สามารถเข้าถึงได้ เพื่อช่วยในการพัฒนาและยกระดับคนเหล่านี้ ซึ่งสอดคล้องกับการสร้างสังคมแห่งโอกาสที่กล่าวไว้ และบทบาทที่สำคัญที่สุดของคณะครุศาสตร์ คือ การเป็นเบ้าหลอมครูให้มี จิตวิญญาณของการเป็นครูที่ดีและการสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างคนไทยให้เป็นคนที่เป็นตนและคนที่เป็นคน เพื่อให้ประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศไทย 4.0

สุดท้ายนี้ทั้งในฐานะของหนึ่งของผู้ร่วมขับเคลื่อนนโยบายและในฐานะของครูคนหนึ่ง ผมเชื่อครับว่าครูมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย ดังที่ผมเชื่อมาตลอดว่า “ครูเป็นผู้สร้างชาติ”ครับ

     โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

Tag :