สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ สังฆราชองค์ที่ 20 พระผู้อร่ามบริสุทธ์ในทางธรรม

by ThaiQuote, 8 กุมภาพันธ์ 2560

ตั้งหน้าตั้งตาเฝ้ารอกันมานาน กระทั่งมากระจ่างชัดเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ว่า ได้นำรายชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติดำรงตำแหน่งพระสังฆราช 5 องค์ให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงพิจารณาและเมื่อคืนวันที่ 6 ก.พ.  และได้รับแจ้งว่าทรงโปรดเกล้าฯ “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ วัดราชบพิธ” ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้จะจัดงานพิธีสถาปนาในวันที่ 12 ก.พ. เวลา 17.00 น. ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพิธีตามพระราชประเพณี

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ นามเดิม อัมพร ประสัตถพงศ์ ฉายา อมฺพโร เป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม และแม่กองงานพระธรรมทูต ที่น่าสนใจก็คือท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯยังเป็นศิษย์เอกแห่งพ่อแม่ครูบาอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาที่ลือชื่ออย่างพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร แห่งวัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร อีกด้วย

เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2470 ณ ตำบลบางป่า อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี โยมบิดาชื่อนายนับ ประสัตถพงศ์ โยมมารดาชื่อนางตาล ประสัตถพงศ์ ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 ต.โคกกระเทียม อ.เมือง จ.ลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

จากนั้นได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. 2480 ณ วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 ณ พัทธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

สามเณรอัมพร อยู่จำพรรษาที่วัดตรีญาติ ต.พงสวาย เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม พ.ศ. 2483 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี จากนั้น พ.ศ. 2484 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นโทและ พ.ศ. 2486 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก และสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค เมื่อพ.ศ. 2488 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค

เมื่อ พ.ศ. 2490 ได้ย้ายมาอยู่จำพรรษา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนีนำมาฝากกับสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สกลมหาสังฆปริณายก

ภายหลังอุปสมบทเมื่อ พ.ศ. 2491 ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ จน พ.ศ. 2491 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และ พ.ศ. 2493 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค

จากนั้นเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 จนจบศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. 2500 และได้เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี

ปี พ.ศ. 2552 สภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ถวายศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์ ปี พ.ศ. 2553 สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ

ปัจจุบันนอกจากเป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ยังดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม ,กรรมการคณะธรรมยุต, กรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุต, ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต), แม่กองงานพระธรรมทูต

ด้านสมณศักดิ์ พ.ศ. 2514 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระปริยัติกวี ,พ.ศ. 2524 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสารสุธี ศรีปริยัติวราทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี, พ.ศ. 2533 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเมธาภรณ์ สุนทรธรรมานุนายก วิสุทธิสาธกสาธุกิจ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี, พ.ศ. 2538 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่พระธรรมเมธาภรณ์ สุนทรวาสนวงศวิวัฒ ศรีปริยัติกิจจานุกิจ ปาพจนวิภูษิตคุณาลงกรณ์ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี, พ.ศ. 2543 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระสาสนโสภณ วิมลญาณอดุลสุนทรนายก ตรีปิฎกธรรมาลังการภูษิต ธรรมนิตยสาทร ศาสนกิจจานุกร ธรรมยุติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

พ.ศ. 2552 เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ พิพัฒนพงศ์วิสุต พุทธปาพจนานุศาสน์ วาสนวรางกูร วิบูลศีลสมาจารวัตรสุนทร ตรีปิฎกธรรมวราลงกรณวิภูษิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญญวาสี

ปัจจุบัน พ.ศ. 2560 เจ้าประคุณสมเด็จฯมีอายุ 89 ปี 68 พรรษา.. นับเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20 ที่มีวัตรปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามแบบอย่างที่ดีงามของพระกรรมฐานสาย “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร”..ก่อนหน้านี้หลายสิบปีมาแล้ว เจ้าประคุณสมเด็จฯเคยนั่งรถโดยสารตามลำพังเพื่อตามไปฟังพระธรรมเทศนาของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ณ สถานที่ต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ห่างไกล..

Tag :