กด Likeรัว ๆให้กับคันไซโมเดล

by ThaiQuote, 20 กุมภาพันธ์ 2560

โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor)

เป็นโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่โดดเด่นของรัฐบาล “บิ๊กตู่” อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และระยอง มูลค่าการลงทุนเมื่อบูรณาการเข้าด้วยกันแล้ว  คาดว่าจะสูงกว่า 1.5 ล้านล้านบาท

      

โครงการนี้รัฐบาล “บิ๊กตู่”ให้สิทธิประโยชน์ผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุน ทั้งกลุ่มทุนในประเทศและต่างประเทศมากมายหลายประการโดยเน้น 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก ได้แก่ 5 อุตสาหกรรมดั้งเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) เช่น เกษตรและแปรรูปอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ การท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อิเล็คทรอนิกส์อัจฉริยะ และยานยนต์สมัยใหม่ตลอดจนอีก 5 อุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ได้แก่ ดิจิทัลการบินและโลจิสติกส์ หุ่นยนต์เพื่อการผลิต เชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือEEC นี้มีความโดดเด่นเฉพาะตัว อีกทั้งมีโอกาสที่จะขับเคลื่อนจนประสบผลสำเร็จสูงกว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่น ๆ ที่รัฐบาลชุดนี้ก็พยายามผลักดันไปด้วยพร้อม ๆกัน สืบเนื่องจากพื้นที่ส่วนหนึ่งได้รับการพัฒนามาแล้วในยุคโชติช่วงชัชวาลของรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ภายใต้แผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกหรือ อีสเทิร์น ซีบอร์ด เพียงแต่ยุคนั้นเป็นแผนพัฒนาอุตสาหกรรมที่ต่อยอดจากก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ส่วนใหญ่จึงเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และพลังงานเป็นหลัก

        ที่สำคัญได้ลงทุนสร้างโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทั้ง ถนน และท่าเรือน้ำลึกทั้งที่แหลมฉบังและมาบตาพุดเอาไว้แล้ว รัฐบาลนี้จึงตั้งใจจะลงทุนเพิ่มเติมรวมอีก 62 โครงการ มูลค่า 309,755 ล้านบาท

เพื่อทำให้โครงข่ายคมนาคมขนส่งมีความสมบูรณ์รองรับอนาคตประเทศไทยไปได้ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

        ทางอากาศ จะปรับปรุงอู่ตะเภาของกองทัพเรือให้เป็นท่าอากาศยานพาณิชย์แห่งที่ 3 ต่อจากดอนเมืองและสุวรรณภูมิ

        ทางเรือ จะทำท่าเรือสัตหีบให้ท่าเรือเฟอร์รี่ ลงทุนสร้างท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังเฟส 3 ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 และท่าเรือคลองใหญ่ที่จังหวัดตราด

        ทางถนน จะมีมอร์เตอร์เวย์ต่อจากพัทยาไปถึงมาบตาพุด

        และที่สำคัญทางระบบราง ที่ยังพัฒนาได้น้อย  ตั้งแต่แผนพัฒนาชายฝั่งภาคตะวันออกยุครัฐบาลพลเอกเปรมก็ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้นในแผน EEC จึงกำหนดให้มีทั้งรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง และเสริมด้วยรถไฟรางคู่ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย

    

นอกจากนี้โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกในภาพที่ใหญ่ขึ้นก็จะเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกตะวันตกที่จะเชื่อมไปยังประเทศเพื่ิอนบ้าน โดยฝั่งตะวันตกเชื่อมไปที่ท่าเรือน้ำลึกทวายที่ไทยกับเมียนมาร์จะร่วมกันพัฒนา ส่วนทางตะวันออกก็จะไปถึงท่าเรือน้ำลึกสีหนุวิลล์ของกัมพูชา และสามารถเชื่อมไปถึงท่าเรือวังเตาของประเทศเวียดนาม

  

หากรวมกับระเบียงเศรษฐกิจเหนือใต้ที่เริ่มจากประเทศจีนผ่านลาวเข้ามาทางภาคอีสานของไทยจนมาถึงกรุงเทพฯ และจากกรุงเทพฯสามารถลงภาคใต้ผ่านมาเลเซียไปจนถึงสิงคโปร์ได้ด้วย ก็จะเป็นภาพโครงข่ายที่เชื่อมโยงออกไปได้รอบทิศทาง เกิดประโยชน์มหาศาลทั้งด้านการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว สหรัฐฯและยุโรปจะตั้งกำแพงภาษี งดออกวีซ่า หรือจะถอนตัวจากโลกาภิวัตน์ เพราะเห็นว่าเสียมากกว่าได้ก็คงไม่กระทบถึงพวกเรา เนื่องจากโครงข่ายที่ไทยเชื่อมโยงภายในชาติอาเซียนด้วยกันบวกจีน (และยังอีกหลายประเทศด้วย)ก็จะช่วยทำให้เศรษฐกิจยังเติบโตไปพร้อมๆกันต่อไปเรื่อยๆได้ไม่ยาก

        บทความชิ้นที่แล้ว เคยตั้งคำถามแห่งยุคสมัยว่า เมื่อสหรัฐฯยุโรปถูกครอบงำด้วยแนวคิดขวาจัด โลกจะไปทางไหน?  ถึงวันนี้คงยังตอบแทนทั้งโลกไม่ได้ แต่สำหรับประเทศไทยขอบอกว่า EEC นี่เอง คือรูปธรรมข้อหนึ่งที่คือคำตอบแห่งยุคสมัยของคนไทยและเพื่อนบ้านชาวเอเชียทั้งหลาย

        นอกจากนี้ยังน่ายินดีมาก ที่ EEC จะยึดแนวทางคันไซโมเดลของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เน้นนวัตกรรมและพร้อมๆกันนั้นก็ยังส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย เนื่องจากคันไซโมเดลครอบคลุมพื้นที่ทั้งที่คันไซโอซาก้าและเกียวโตที่เต็มไปด้วยวัดและวังสมัยโบราญ จากสนามบินคันไซสามารถนั่งรถไฟฟ้าเข้ามาที่ย่านนัมบะของโอซาก้า เดินขึ้นมาบนดินก็จะช้อปปิ้งที่ชินไซบาชิได้อย่างเพลิดเพลิน และจะไปดูแหล่งมรดกโลกที่เกียวโต ไปไหว้พระที่วัดน้ำใสก็จะมีโครงข่ายรถไฟฟ้าเชื่อมโยงสะดวกสบายมาก

ที่น่ายินดีก็เพราะพื้นที่ EEC ของเรามีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวไม่แพ้ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ดังนั้นถ้ายึดตามคันไซโมเดล บ่งบอกได้ว่า ที่ภาคตะวันออกนี้อุตสาหกรรมกับท่องเที่ยวจะมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่คนไทยเราทำได้ และทำมาพอสมควรแล้วตั้งแต่ยุคโชติช่วงชัชวาล

Tag :