ใส่ใจสักนิด! อาการเตือน “จอประสาทตาเสื่อม”

by ThaiQuote, 7 มีนาคม 2560

นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า  โรคจอประสาทตาเสื่อมเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมในส่วนกลางของจอประสาทตา ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้นและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความสามารถในการมองเห็นของผู้สูงอายุลดลง แม้ว่าโรคดังกล่าวมักพบในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยเรียกว่าจอประสาทตาเสื่อมเนื่องจากอายุแต่ก็สามารถพบได้ในผู้ที่มีอายุน้อยด้วยเช่นกัน เนื่องมาจากพันธุกรรมโดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคดังกล่าว ทั้งนี้โรคจอประสาทตาเสื่อมมี 2 ชนิดด้วยกันคือ 1. แบบแห้งหรือแบบเสื่อมช้า เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุด โดยเซลล์จอประสาทตาจะค่อย ๆเสื่อมไปอย่างช้า ๆ การมองเห็นจะลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น และแบบที่ 2 แบบเปียกหรือแบบเร็ว พบเป็นจำนวนประมาณร้อยละ 10-15 ของโรคจอประสาทตาเสื่อมทั้งหมด โดยจะเกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็วทันที เป็นผลจากจุดกลางรับภาพจอประสาทตาบวมหรือมีเลือดออกที่จอประสาทตา สำหรับอาการของโรคจอประสาทตาเสื่อม คือมองเห็นภาพบิดเบี้ยว มองเห็นเส้นตรงเป็นเส้นคด มองไม่เห็นส่วนกลางของภาพ การมองภาพต้องใช้แสงเพิ่มมากขึ้น และการมองเห็นสีลดลง โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม คืออายุ จะพบมากในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และร้อยละ 50 พบว่ามาจากพันธุกรรมของผู้ป่วยที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมาก่อน ซึ่งพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และพบมากในผู้ที่สูบบุหรี่ โดยจะมีโอกาสเป็นโรคนี้เร็วกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 10 ปี อย่างไรก็ตามแม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคนี้ให้หายขาด แต่สามารถหยุดหรือชะลอเพื่อให้จอประสาทตาเสื่อมช้าที่สุด โดยมีวิธีการรักษาได้แก่การฉีดยา การใช้เลเซอร์พลังงานต่ำและสารไวแสง เลเซอร์พลังงานสูงและหลายวิธีร่วมกัน ซึ่งการรักษาในแต่ละวิธีมีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน เนื่องมาจากร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคนตอบสนองต่างกัน ดังนั้นก่อนการรักษาจึงควรมีการปรึกษาหารือกันระหว่างจักษุแพทย์ ผู้ป่วย ญาติ ถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุด ขณะเดียวกันเราสามารถป้องกันภาวะจอประสาทตาเสื่อมได้โดย หมั่นตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวมีภาวะจอประสาทตาเสื่อม งดสูบบุหรี่ เลือกรับประทานอาหาร ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ ผักใบเขียว และผลไม้ เป็นต้น
Tag :