“แล็บประชารัฐ”เพื่อ SMEs “คนตัวเล็ก” ตรวจสอบสินค้า

by ThaiQuote, 18 พฤษภาคม 2560

“คนตัวเล็ก” คือคำเรียกขานผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งหมายรวมถึงวิสาหกิจชุมชนและผู้จำหน่ายสินค้า OTOP ที่มีอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ผู้ประกอบการเหล่านี้ล้วนมีศักยภาพที่แตกต่างกันในการประกอบธุรกิจ ดังนั้นรัฐบาลจึงได้กำหนดให้มีการส่งเสริมเพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายฐานรากให้มีความเข้มแข็ง ขณะเดียวกัน“คนตัวเล็ก” เหล่านี้ก็ยังขาดซึ่งปัจจัยในการสร้างแบรนด์สินค้าของตนเองในเรื่องของ มาตรฐานความปลอดภัยของสินค้า เนื่องด้วยขาดงบประมาณในการตรวจสอบดังกล่าว หากมีหน่วยงานที่เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานของสินค้าให้กับพวกเขาเหล่านี้โดยมีค่าใช้จ่ายที่จับต้องได้ จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้กับแบรนด์วิสาหกิจชุมชน และ OTOP ได้ นายสุรชัย กำพลานนท์วัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Central Lab Thai (CLT) เปิดเผยว่า เนื่องจากรัฐบาลมีแนวนโยบายในการผลักดันให้เกิดการบริโภคภายในประเทศ หรือ Local Economy จากสำรวจตลาดของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่าสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสนใจต่อสินค้าวิสาหกิจชุมชนและสินค้า OTOP ในจำพวกสินค้าบริโภคใน 4 อันดับแรก คือ 1. ความอร่อย 2.ความปลอดภัยและมาตรฐานการผลิต 3.ภาพลักษณ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และ 4.ราคา ทั้งนี้จะสังเกตได้ว่า หากผลักดันให้มีการบริโภคสินค้าวิสาหกิจชุมชนจากเกษตรกรผู้ผลิต แปรรูปเป็นสินค้าโดยผู้ประกอบการ SMEs หรือ OTOP เพื่อให้เกิดการบริโภคที่มากขึ้น จำเป็นที่ต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในด้านความปลอดภัย ดังนั้นเพื่อเป็นการสนับสนุนให้กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชน และกลุ่ม OTOP สามารถผลิตสินค้าที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ CLT จึงได้กำหนดนโยบายในการดำเนินงานในปี 2560 สู่การก้าวเป็น “แล็บประชารัฐ” โดยร่วมกับ 4 องค์กรภาครัฐได้แก่ กรมการพัฒนาชุมชน ,สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง(กทบ.), ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และ 4.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs Development Bank)และ สสว. ในการส่งเสริมการตรวจสอบคุณภาพสินค้าในกลุ่มอาหาร ให้กับผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศผ่านศูนย์ CLT ทั้ง 6 แห่งในแต่ละภูมิภาคคือ เชียงใหม่ ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร สงขลา และกทม. สำหรับการดำเนินการนั้นคือ 1.ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชนให้การตรวจสอบสารเคมี หรือสารพิษเจือปนจากตัวอย่างผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP พร้อมทั้งออกผลตรวจรับรองความปลอดภัยของสินค้าให้กับ OTOP ที่ได้รับการคัดเลือก 2. ธกส.จะคัดเลือกเกษตรกรต้นแบบลูกค้าของธกส.ในพื้นที่ที่ต้องการ 3. กทบ.จะคัดเลือกวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่บริการของศูนย์ CLT ทั้ง 6 แห่ง และมหาวิทยาลันเกษตรศาสตร์ในการสร้างความรู้ความเข้าใจในกับสมาชิกของ กทบ.เรื่องของการผลิตอาหารปลอดภัย ในส่วนของ SME Bank เบื้องต้นได้มีการพูดคุยถึงแนวทางการคัดเลือกลูกค้าของธนาคารจำนวน 1,000 ราย มาตรวจสอบมาตรฐานสินค้าก่อนที่จะมีการอนุมัติสินเชื่อเพิ่ม ขณะเดียวกัน CLT จะพิจารณาเรื่องของการเพิ่มจุดให้บริการในการรับตัวอย่างเพื่อการส่งตรวจสอบ โดยเริ่มต้นใน 18 กลุ่มจังหวัดซึ่งรัฐบาลได้กำหนดเรื่องของ Local Economy เบื้องต้นอาจกำหนดจุดไว้ประมาณ 2 จุด/ จังหวัด โดยใช้พื้นที่ในส่วนของ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด หรือ ศูนย์ OTOP ประจำจังหวัดโดยเป็นผู้ประสานงานรวบรวมจัดส่งสินค้าตัวอย่างแต่ละประเภท นอกจากนี้ CLT ยังได้รับงบประมาณจากสสว. ให้กับผู้ประกอบการ 1,000 ราย รายละ 5,000 บาท เมื่อต้นปีต่อเนื่องมาถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยใช้การแจกเป็นคูปองให้กับผู้ประกอบการเพื่อใช้บริการในการตรวจมาตรฐานสินค้า โดยขณะนี้กำลังจะเริ่มดำเนินการแจกคูปองครั้งที่ 2 ซึ่งจะเริ่มในเดือนมิถุนายนนี้โดยผู้ประกอบการสามารถติดต่อขอลงทะเบียนรับคูปองดังกล่าวได้ที่บูธ บ.ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ภายในงาน OTOP Midyear 2017 ตั้งแต่วันที่ 18-25 พฤษภาคม ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพค เมืองทองธานี (บูธลำดับที่ 16)หรือสามารถติดต่อขอลงทะเบียนได้ที่ http://www.centrallabthai.com/web/th/main/index.php

Tag :