ดัน “ส้มบางมด -ลิ้นจี่บางขุนเทียน” จดจีไอ

by ThaiQuote, 1 มิถุนายน 2560

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ลงพื้นที่ไปยังเขตจอมทอง กทม. เพื่อติดตามความคืบหน้าการจัดทำโครงการส่งเสริมหนึ่งจังหวัดหนึ่งสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) หลังจากได้ตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันให้ 77 จังหวัดของประเทศมีสินค้าจีไอครบทุกจังหวัด และจนถึงขณะนี้เหลือเพียงแค่ 8 จังหวัดที่ยังไม่ได้มีการยื่นคำขอจีไอ ได้แก่กรุงเทพฯ สระแก้ว สิงห์บุรี สมุทรสาคร สตูล กาญจนบุรี ระนอง และกระบี่ ซึ่งในครั้งนี้เป็นที่น่ายินดีที่กรุงเทพฯโดยวิสาหกิจชุมชนจอมทองพัฒนาได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สินค้า “ส้มบางมด” และ “ลิ้นจี่บางขุนเทียน” ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้วทำให้เหลืออีกเพียง 7 จังหวัด ที่จะมีการผลักดันให้มีการจัดทำคำขอขึ้นทะเบียนจีไอต่อไป โดยตั้งเป้าให้สำเร็จภายในปีนี้ สำหรับส้มบางมดเป็นส้มเขียวหวาน มีทรงผลกลมมนหรือแป้นเล็กน้อย ผิวผลเรียบ เปลือกบาง เนื้อส้มภายในเป็นสีส้มอมทอง ฉ่ำน้ำ ซังนิ่ม กลีบแยกออกจากกันได้โดยง่าย เมื่อแกะออกมาแล้วกลิ่นจะติดจมูก มีรสชาติอร่อยหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย จากประวัติพบว่าส้มบางมดนำมาปลูกในพื้นที่ตำบลบางมด (ปัจจุบัน คือ แขวงบางมดในเขตทุ่งครุ และเขตจอมทอง ของกรุงเทพฯ) เมื่อปี 2468 โดยนายเสม และมีการปลูกทั่วไปในพื้นที่จนเป็นที่นิยมและมีชื่อเสียงในชื่อ “ส้มบางมด” ต่อมาในปี 2526 เกิดน้ำท่วมใหญ่ทำให้สวนส้มบางมดล่มเป็นจำนวนมาก และในปี 2533 มีน้ำทะเลหนุนเข้ามาประกอบกับเกิดโรคระบาดรวมถึงประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ต้นส้มบางมดยืนต้นแห้งตาย กระทั่งปี 2546 สำนักเขตจอมทอง กรุงเทพฯสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดทำโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสวนส้มบางมด (Chom Thong Model) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ และได้เชิญชวนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯทำให้เกษตรกรสนใจและให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และปลูกพืชที่มีชื่อเสียงมายาวนานอย่างส้มบางมด และได้ส่งเสริมให้สวนส้มบางมดเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านเกษตร และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอีกด้วย จวบจนปัจจุบันมีพื้นที่การปลูกใน 8 เขตของกรุงเทพฯ ได้แก่ เขตจอมทอง เขตบางขุนเทียน เขตทุ่งครุ เขตราษฎร์บูรณะ เขตบางบอน เขตภาษีเจริญ เขตบางแค และเขตหนองแขม ส่วนลิ้นจี่บางขุนเทียน ถูกนำมาปลูกตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ตามบันทึกของบาทหลวงปาเลอกัวร์ เมื่อราวปี 2397 บันทึกไว้ว่า “มีการปลูกลิ้นจี่ในพระนครอย่างหนาแน่นโดยเฉพาะที่ตำบลโพงพาง ตำบลบางขุนเทียน และตำบลบางค้อ” ในอดีตคลองบางขุนเทียน ซึ่งแยกจากคลองด่านและคลองสนามชัยที่บรรจบกัน คลองบางขุนเทียนนี้จะโค้งและมีคุ้งน้ำอยู่เลยเข้าไปจากวัดบางขุนเทียนนอก วัดบางขุนเทียนกลางและวัดบางขุนเทียนใน สองฝั่งของคุ้งน้ำจะเต็มไปด้วยสวนลิ้นจี่ รวมถึงคลองบางประทุน และริมสองฝั่งคลองสายต่างๆ ในพื้นที่เขตจอมทอง และเขตราษฎร์บูรณะ ในปัจจุบันที่ชุมชนเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมืองหลวง ยังพบสวนลิ้นจี่บางขุนเทียนโบราณที่มีต้นลิ้นจี่อายุกว่า 100 ปี ในเขตจอมทองด้วย จากการสำรวจและเก็บข้อมูลสายพันธุ์ลิ้นจี่บางขุนเทียนจะพบพันธุ์ทางการค้าที่มีการปลูกมากที่สุด คือ พันธุ์กะโหลกใบยาว สำหรับพันธุ์พื้นเมืองที่คนทั่วไปมักไม่คุ้นหู เช่น พันธุ์กระโถนท้องพระโรง พันธุ์กะโหลกในเตา พันธุ์กะโหลกไฟไหม้ พันธุ์กะโหลกใบอ้อ พันธุ์สาแหรกทอง พันธุ์บางหญ้าแพรก เป็นต้น เนื่องจากสภาพดินในพื้นที่ดังกล่าวเป็น “ดินลักจืดลักเค็ม” ทำให้ได้ผลผลิตลิ้นจี่บางขุนเทียนที่มีรสชาติหวาน กลิ่นหอม แห้งน้ำ ไม่มีรสฝาดเจือ ที่ปลูกในเขตจอมทองและเขตราษฎร์บูรณะ ของกรุงเทพฯ นอกจากสภาพดินที่ส่งผลต่อลิ้นจี่บางขุนเทียนให้ได้รสชาติดีแล้ว สภาพอากาศก็ส่งผลต่อลิ้นจี่เช่นกัน เนื่องจากลิ้นจี่เป็นผลไม้ที่ชอบอากาศหนาว ถ้าปีไหนอากาศหนาวจัดก็จะออกผลด้วยอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป นับตั้งแต่ปี 2558 ลิ้นจี่จึงไม่ออกผลผลิตมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว จึงได้แต่หวังว่าหากอากาศหนาวติดต่อกันยาวนาน เราคงได้มีโอกาสเห็นลิ้นจี่บางขุนเทียนออกผลมาให้ได้รับประทานครั้งหนึ่งในชีวิตนี้ รมช.พาณิชย์ยังกล่าวต่อว่า ในด้านการหาตลาดให้กับสินค้าจีไอ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ร่วมมือกับบริษัทเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด จัดมุม GI Corner เพื่อขยายช่องทางการตลาดสินค้าจีไอไทย โดยได้นำร่องใน 2 สาขา คือ เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ สาขาเซ็นทรัล ชิดลม และท็อปส์ มาร์เก็ต สาขาเซ็นทรัลพลาซา แจ้งวัฒนะ คาดว่าสิ้นปี 2560 จะมี GI Corner ครบ 100 สาขา
Tag :