เรื่อง บ้าน บ้าน (1)

by ThaiQuote, 7 ธันวาคม 2558

เมื่อสถาบันการเงินได้อนุมัติให้กู้แล้ว ผู้กู้มีภาระต้องไปดำเนินการนำบ้าน หรือคอนโดมิเนียมที่ซื้อจดทะเบียนจำเป็นเป็นประกันหนี้ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน โดยกรรมสิทธิ์ของบ้านหรือคอนโดมิเนียมนั้นได้มีการโอนไปเป็นของผู้ซื้อแล้ว โดยสมบูรณ์ เพียงแต่ติดจำนองอยู่กับสถาบันการเงิน เมื่อผู้ซื้อผ่อนชำระหนี้ให้กับสถาบันการเงินจนครบถ้วนแล้ว ผู้ซื้อก็มีหน้าที่ไปขอรับโฉนดสัญญาจำนอง โดยสถาบันการเงินจะสลักหลังหนังสือสัญญาจำนองว่าได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว และผู้กู้มีหน้าที่ไปแก้ไขทางทะเบียนที่สำนักงานที่ดิน เพื่อไถ่ถอนจำนอง และเจ้าพนักงานที่ดินจะดำเนินการแก้ไขให้ตามคำร้องของเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยถือเป็นการไถ่ถอนจำนองจากผู้รับจำนองแล้ว ผู้กู้ก็จะได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์นั้นในบ้าน หรือคอนโดมิเนียมด้วยความภาคภูมิใจ

                แต่หากในระหว่างผ่อนชำระเงินกู้กับสถานบันการเงินอยู่ หากผู้กู้ไปสร้างภาระหนี้สินกับใครไว้เวลาเจ้าหนี้ทวงถามให้ชำระหนี้ก็อย่านิ่งนอนใจ คิดเข้าข้างตัวเองว่า เอาบ้านไปจำนองไว้กับสถานบันการเงินเจ้าหนี้จะทำอะไรไม่ได้ จึงนิ่งเฉยไม่ยอมชดใช้หนี้สินที่มีอยู่กับบุคคลอื่นจนถูกฟ้องบังคับชำระหนี้ และเพิกเฉยจนวันดีคืนดีมีหมายของเจ้าพนักงานบังคับคดี แจ้งการยึดทรัพย์ที่จำนองไว้กับสถาบันการเงิน 
ก็อย่านิ่งนอนใจ จนมีประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ไปติดไว้ที่บ้านหรือคอนโดมิเนียม 
ที่ยังผ่อนชำระอยู่กับสถาบันการเงิน กันนะครับ

      ผมขอเข้าเรื่องข้อกฎหมายที่ทำให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา สามารถนำเจ้าพนักงานบังคับคดีมายึดทรัพย์จนนำไปสู่การประกาศขายทอดตลาดบ้านหรือ คอนโดมิเนียม ที่ยังมีภาระจำนอง อยู่กับสถาบันการเงิน  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา 271  ผู้มีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีได้ต้องเป็นบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดีหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้นการที่ลูกหนี้ที่ยังผ่อนชำระหนี้กับสถาบันการเงินอยู่นั้น เพิกเฉยในการไม่ผ่อนชำระหนี้แก่บุคคลอื่น จนบุคคลอื่นฟ้องบังคับชำระหนี้และเป็นฝ่ายชนะคดีก็สามารถนำเจ้าพนักงานมายึดทรัพย์จำนองกับสถานบันการเงินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวลูกหนี้ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวสถาบันการเงินนั้น ก็มีสิทธิที่จะยื่นขอรับชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาแพ่งตามมาตรา 289 ประกอบกับมาตรา 290 ได้ครับ

                ผมหวังว่าบทความข้างต้นนี้จะทำให้ลูกหนี้ที่นำบ้าน หรือ คอนโดมิเนียมที่นำมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ไว้กับสถาบันการเงินสามารถเข้าใจได้ดียิ่งขึ้นถึงสิทธิของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและหน้าที่ของตนเองนะครับ  

 

        ที่มา : ประภาคาร, Thaiquote