ห่วงใช้โซเชียลแสดง “ความแรง” แนะยึดหลัก 3What รู้เท่าทันสื่อ

by ThaiQuote, 8 สิงหาคม 2560

  น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวในงานประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 16 และการประชุมสุขภาพจิตและจิตเวชเด็ก ครั้งที่ 14 ว่า “สื่อ”ในปัจจุบันโดยเฉพาะสื่อโลกออนไลน์ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์ของคนในสังคมอย่างชัดเจน จนกลายเป็นประเด็นทางสังคมต่าง ๆ มากมาย ทั้งนี้เนื่องจากการไม่มีตัวตนหรือมีตัวตนซ่อนเร้นในโลกออนไลน์จึงทำให้มีอิสระในการแสดงความคิดเห็น หรือแสดง “ความแรง” ออกมามากขึ้นทั้งความโกรธ ความโอ้อวด ความอิจฉา อคติ และความเกลียดชังนำไปสู่ความขัดแย้งบนโลกออนไลน์

          สิ่งที่เราสามารถทำได้ในการป้องกันคือ การรู้เท่าทันสื่อเข้าใจสภาพของสื่อออนไลน์ว่าเป็นสังคมที่มีทั้งพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ จึงควรมีสติทุกครั้งในการสื่อสารหรือการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ บนโลกออนไลน์รวมทั้งตรวจสอบที่มาของข้อมูล อย่าส่งต่อข้อมูลที่ไม่เกิดประโยชน์ขอให้คิดทุกครั้ง ก่อนโพสต์ ก่อนไลก์ ก่อนแชร์อาจกล่าวได้ว่าการรู้เท่าทันสื่อใหม่ ก็เหมือนกับ การรู้เท่าทันตัวเราเอง

          ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมยุคดิจิตอลในทางลบไม่ใช่แค่การสร้างการหลอกลวง แต่กลับกลายเป็นการสร้างความเกลียดชังร่วมด้วย ซึ่งพบว่าความรุนแรงบนโลกออนไลน์จะมีทั้ง Hate Speech คือการสร้างความแตกต่างที่มีผลต่อยอดไปสู่ความรุนแรงได้ เช่น เรื่องของเพศภาพ เชื้อชาติ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง คนพิการ ส่วนใหญ่จะเป็นบริบททางสังคม และBlame Speech คือการสร้างความรุนแรงในเรื่องส่วนตัว เช่น กรณีกราบรถกู ดังนั้นการสร้างพลเมืองสื่อดิจิตัล (Digital Citizenship)จึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งต้องประกอบไปด้วย การไม่ขยายความรุนแรง จาก Hate Speechโดย ใช้หลัก 2 ไม่ 1 เตือน ได้แก่ ไม่สื่อสารทางลบ ไม่ส่งต่อ และเตือนด้วยถ้อยคำที่สุภาพรวมทั้งให้ข้อมูลที่น่ารับฟัง

          “ขณะที่ Blame Speech ซึ่งทำให้เกิดสังคมดราม่าเหมือนเช่นทุกวันนี้ ให้ใช้หลักเดินหน้า 3 What ได้แก่ What, So What, What Next หมายถึงอย่าหยุดอยู่แค่ What เกิดอะไรขึ้นแบบที่เรียกว่าดราม่า ซึ่งทุกวันนี้เรามักจะสนใจอยู่เพียงตัวWhatหรือตัวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นเราจึงควรก้าวไปสู่ So What ในการเข้าใจสาเหตุว่าทำไมเหตุการณ์นี้จึงเกิดขึ้น เพราะสาเหตุเหล่านั้นอาจเกิดกับเราได้ทุกคนเป็นความเครียดหรือการเลี้ยงดูในครอบครัว และท้ายสุด What Next หาแนวทางเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นทั้งในระดับบุคคล ครอบครัวและสังคม” นพ.ยงยุทธ กล่าว

Tag :