อุตสาหกรรมใหม่ทางรอดประเทศ (4)

by ThaiQuote, 15 ธันวาคม 2558

 เราภูมิใจในสิ่งที่เรามีอยู่ รับจ้างผลิตของถูก ๆบอกให้เอกชนลงทุนในสิ่งที่มีเทคโนโลยีก็ไม่อยากจะลงทุนเอาง่าย ๆ เข้าว่า ใช้แรงงานราคาถูก ในขณะที่ประเทศอื่นนั้นเขากำลังก้าวขึ้นไปสู่สิ่งที่มี High value added มากขึ้น ฉะนั้นนโยบายใหม่ในขณะนี้ก็คือในอนาคตข้างหน้าบีโอไอจะเน้นการให้การสนับสนุนกับอุตสาหกรรมเก่าที่มีอยู่ แต่จะต้องมีTechnology content มี R&D มี Research มี  value added และเรายังได้ตั้งอุตสาหกรรมใหม่อีก 5 กลุ่มเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ผมจะไม่พูดรายละเอียดเพราะผมเชื่อว่าท่านคงติดตามข่าวอยู่แล้ว

เราต้องการสร้าง S curve ตัวใหม่ในอนาคตข้างหน้า แล้วผมจะเดินทางไปญี่ปุ่นไปเชิญเขามาร่วมกัน ผมจะเดินทางไปจีนไปรัสเซีย ไปเยอรมันเชิญเขาด้วยตัวเองว่าให้มาร่วมลงทุนกับเรา โครงสร้างพื้นฐานทุกอย่างเราจะเร่งภายในปีครึ่งให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมกับเราให้ได้ เราจะใช้นโยบายที่เรียกว่า PPP ทั้งเอกชนภายในประเทศและเอกชนจากต่างประเทศมาร่วมกับเรา ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา อังกฤษ ยุโรปซึ่งมีปัญหาในเรื่องทางการเมืองว่าไม่สามารถร่วมกันได้แต่ธุรกิจไม่เกี่ยวกับการเมืองเราอยากให้ท่านมาจอยกับเรา ขั้นตอนทางกฏหมาย การปฏิรูปการเงินการคลัง การปฏิรูปตลาดทุนในปีครึ่งนี้เราจะทำให้พวกท่านดู อันนี้ไม่ใช่พูดเล่นและจะทำให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ภายในช่วงเวลาปีครึ่งที่จะถึงนี้

ลักษณะเช่นนี้จะทำให้เกิดอะไรขึ้น ประการที่ 1 ประเทศไทยนั้นจะเป็นจุดที่มีความสามารถเชิงแข่งขัน มีเป็นสิ่งที่เรียกว่านักลงทุนนั้นมีความเชื่อมั่นกับเรา โครงสร้างพื้นฐานจะต้องพร้อมมูล สถาบันหลักทางเศรษฐกิจจะต้องเอื้ออำนวย ไม่ชักช้า สิ่งสำคัญก็คือต้องพัฒนาตัวเราเอง คืนนี้ (2 ธ.ค.)สองทุ่มมันจะมีการประกาศอะไรบางอย่างซึ่งผมรู้สึกผิดหวัง แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นโอกาสใหญ่ที่จะเปลี่ยนให้มันดีขึ้นในอนาคตข้างหน้า ปีที่แล้วเราถูก ICAO บอกว่าการบินของเรานั้นไม่ได้มาตรฐาน กรมการบินพลเรือนของเรานั้นมีบุคลากรไม่พอ วันนี้ FAA ของอเมริกันเขาประกาศบอกว่าลดขั้นของเรานี่อยู่ระดับ 2 การบินไทยไปอเมริกาไม่ได้ ถามว่าเสียหายทางเศรษฐกิจมั้ยไม่เสียหายหรอก แต่มันเสียความรู้สึกว่าทำไมเราปล่อยปละอย่างนี้ เละเทะอย่างนี้มา 10 ปี กรมการบินพลเรือนมีคนอยู่ไม่กี่คน เตือนก็แล้วเขย่าก็แล้ว บังคับก็แล้ว ก็ยังเฉื่อยแฉะฉะนั้นตรงนี้แหละจะเป็นโอกาสที่ดีมาก ๆที่จะรื้อใหญ่เลยในสิ่งเหล่านี้ เปลี่ยนในสิ่งที่เฉื่อยแฉะด้วยความรู้สึกไม่รู้ว่าอะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ

ผมมองว่ามันเป็นโอกาสแห่งการเปลี่ยนแปลงคือมันเสียดาย ลักษณะอย่างนี้ทั้งหมดคือสิ่งที่ผมกำลังจะบอกว่าเราจะพยายามใช้กลุ่มธุรกิจให้เป็นโอกาส แล้วจะใช้สิ่งเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการพัฒนา จากวันนี้ไปกรมกองใดก็แล้วแต่ที่เฉื่อยแฉะจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน

ประการที่ 2 ที่ผมพูดนี่นอกจากความพร้อมของความสามารถของการแข่งขัน ผมหมายถึงความพร้อมของการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย อุตสาหกรรมไทยมันอยู่ตรงกลางค่าแรงก็แพงกว่าประเทศข้างเคียง จะขึ้นมาในระดับสูงคุณภาพของระดับด้วยกันก็ไม่ถึง เราไม่เคยสนใจเรื่อง Technology content เลยเราสนใจแค่รับจ้างผลิต ตอนนี้ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว นโยบายใหม่มาแล้วครับ ธุรกิจซึ่งได้ BOI ง่าย ๆโดยที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง นอกจากท่านจะต้องพัฒนาตัวท่านเองมันถึงจะคุ้มค่ากับภาษีที่เราให้สิทธิพิเศษกับท่าน

  มาถึงปัจจัยที่ 3 เศรษฐกิจไทยจะโลดแล่นไปได้นั้นมันไม่ใช่ขึ้นอยู่กับรัฐบาล มันขึ้นอยู่กับนักรบเศรษฐกิจของไทยที่จะไปรบกับเขา ไปแข่งขันกับเขา ประเทศไทยนั้นมีกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ไม่กี่กลุ่ม มีบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่บริษัท ที่เราเห็นก็คือ Set fifty 50 บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นบริษัทค่อนข้างใหญ่ จะทำยังไงให้บริษัทใหญ่ ๆ เหล่านี้เข้มแข็งขึ้น รัฐบาลจะช่วยให้เขาสามารถไปลงทุนต่างประเทศไม่ใช่แค่กระจุกอยู่ในเมืองไทย เขาเรียกว่าเก่งแต่ในบ้านคนเก่งจริงต้องเก่งนอกบ้าน CLMV กำลังเติบโตแรงมาก อัตราเติบโตเศรษฐกิจ 7 -8 % ถามว่ายิ่งเติบโต CLMV เติบโตเท่าไหร่ ใครได้ประโยชน์สูงสุด ผู้ประกอบการไทยจะได้ประโยชน์สูงสุด พม่ามีผู้ประกอบการที่แข็งแรงหรือไม่  แทบไม่มี ลาวมีหรือไม่ น้อยมากทีเดียว เขมรมีหรือไม่ น้อยมาก แต่เราสามารถที่จะช่วยเหลือเขา พัฒนาเขาร่วมมือกับเขา เขาเจริญเท่าไหร่เราก็มีโอกาสเติบโตได้เท่านั้นเพราะว่าเราเป็นประเทศที่พัฒนาระดับที่สูงกว่าเขาอยู่แล้ว

แต่ว่าการเติบโตอย่างนี้มันต้องวินวินกัน ญี่ปุ่นจะซัพพอร์ทใครให้มาดูแลเรื่องของ CLMV เราก็หวังว่าจีนจะใช้ลาวให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาลุ่มน้ำล้านช้าง อเมริกันใช้ลาวให้เป็นประโยชน์ในการสมานเรื่องสิ่งเหล่านี้ในประเทศไทย เมื่อเช้านี้อังกฤษบอกว่าต้องการเข้ามาช่วยเรื่องภาษาอังกฤษ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราจะต้องยกระดับตัวเองขึ้นมาให้เห็น แต่บริษัทในเมืองไทยไม่ใช่บริษัทใหญ่มันเป็นเอสเอ็มอี เอสเอ็มอีเวลานี้ต้องยกระดับขึ้นมา ต้องมี Knowhow มากขึ้นต้องมีเรื่องของความรู้ทาง Technology มากขึ้น อันนี้เป็นนโยบายหลักที่กระทรวงอุตสาหกรรมรับมอบไปแล้ว

เรื่องราวของปาฐกถาครั้งสำคัญยังไม่จบ ตอนหน้าจะเป็นบทส่งท้ายของปาฐกถาที่มีแง่คิดและมุมมองในแบบฉบับดร.สมคิดที่คงจะหาฟังที่ไหนได้ยาก โดยเฉพาะการเปิดใจพูดเรื่องของการเมืองไทย แล้วพบกันในตอนหน้าตอนจบ    

ที่มา : Thaiquote