“พันธุกรรม” 1 ในสาเหตุ “ใหลตาย”

by ThaiQuote, 15 กรกฎาคม 2560

ศ.นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ เมธีวิจัยอาวุโสสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย( สกว.) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าปัจจุบันวงการแพทย์ทราบสาเหตุของผู้ที่เสียชีวิตด้วย Sudden unexpected death syndrome (SUDS) หรือภาวะเสียชีวิตกะทันหันโดยไม่มีสัญญาณเตือนมาก่อน(ใหลตาย) มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาจเกิดจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลันหรือการส่งสัญญาณไฟฟ้าหัวใจผิดปกติฉับพลันทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ ไม่สามารถบีบเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้เพียงพอทำให้เสียชีวิตกะทันหัน สำหรับ “ใหลตาย” ที่เป็นฆาตกรเงียบที่ทำให้คนเสียชีวิตขณะนอนหลับ โดยไม่อาจระบุสาเหตุแห่งความตายได้นั้น ในทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์พบว่าคนที่ใหลตายส่วนมากมีโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ โดยสามารถระบุได้ว่าใหลตายเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคที่เกิดจากการส่งสัญญาณไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งมีสาเหตุจากพันธุกรรมและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่นความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ อาหารที่ทำให้เกลือแร่ในเลือดผิดปกติ เช่น โพแทสเซียมสูงหรือต่ำเกินไป ขณะเดียวกันปัจจัยทางด้านพันธุกรรม มักจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เกี่ยวข้องกับโรคต่าง ๆ แต่ไม่ใช่ทุกคนในครอบครัวที่เจอสิ่งแวดล้อมเดียวกันแล้วจะมีอาการของโรค เพราะแม้ว่ายีนของคนในครอบครัวอาจจะคล้ายคลึงกันแต่ก็ไม่ได้เหมือนกันทีเดียว คนในครอบครัวอาจจะมีความหลากหลายทางพันธุกรรมทำให้ความเสี่ยงต่อโรคไม่เท่ากัน เช่นเดียวกับนิสัยหรือหน้าตาของแต่ละคนในครอบครัวที่แม้จะคล้ายกันแต่ก็ไม่ได้เหมือนกัน แม้โรคเหล่านี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ทางการแพทย์ แต่ในสังคมไทยยังมีการเรียนรู้และป้องกันตนจากโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมค่อนข้างน้อย ทั้งนี้พันธุกรรมเป็นปัจจัยที่กล่าวได้ว่าเกี่ยวข้องกับโรคทุกโรค เพียงแต่ว่าระดับของความเกี่ยวข้องนั้นมากน้อยต่างกันไปในแต่ละโรค ดังนั้นผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวป่วยด้วยโรคที่มีอาการรุนแรงกว่าปกติ หรือมีอาการตั้งแต่อายุยังน้อยกว่าปกติ หรือมีปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงน้อยกว่าแต่ทำให้เกิดโรคได้ อาจมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไปที่จะเป็นโรคเดียวกันนั้น จึงควรที่จะไปพบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนั้นๆ ด้วยวิธีต่างๆ รวมทั้งการตรวจพันธุกรรม ซึ่งปัจจุบันแพทย์สามารถตรวจพันธุกรรมเพื่อหาความผิดปกติของโรคได้หลากหลายประเภท เพื่อจะได้หาแนวทางดูแลและป้องกันก่อนที่จะเป็นโรคนั้น ๆ รวมทั้งเพื่อการรักษาที่จำเพาะกับยีนที่เป็นสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ใหลตาย การแพ้ยา ความพิการแต่กำเนิด หรือโรคอื่น ๆ อย่างไรก็ตามนอกจากโรคมะเร็งแล้ว โรคอื่น ๆเช่นโรคหัวใจก็มีความเสี่ยงทางพันธุกรรมได้เช่นกัน วิธีสังเกตง่าย ๆ คือ หากมีญาติป่วยด้วยโรคดังกล่าวก่อนวัย หรือเป็นโรคที่เพศนั้น ๆ ไม่เป็นกัน ก็มีโอกาสเป็นโรคทางพันธุกรรมสูง เช่น โรคหัวใจขาดเลือด พบมากในผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป และในผู้หญิงจะพบน้อยกว่า โดยพบได้เมื่ออายุมากกว่า 55 ปี ดังนั้นหากญาติเป็นหญิงอายุที่มีอายุ 40 ปี เป็นโรคหัวใจขาดเลือด ให้สงสัยว่าเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งความรู้นี้สำคัญเพราะหากรู้ว่ามีความเสี่ยงล่วงหน้า ก็จะสามารถป้องกันการสูญเสียได้

Tag :