ดร.สมฤดี ย้ำ Emotional Branding “สินค้าใดสร้างเสน่ห์ฝังลึกในใจจะกลายเป็นผูกพันต่อสังคม”

by ThaiQuote, 23 สิงหาคม 2560

เอกลักษณ์ตัวตนของสินค้าเริ่มจากตัวสินค้า (อัตลักษณ์ของแบรนด์) ดร.สมฤดี กล่าวว่า บรรดาผู้ก่อกำเนิดสินค้าที่ยิ่งใหญ่ในโลก ค้นคิดคุณค่าสินค้าอันเลิศเหล่านั้น ด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นเลิศตั้งแต่แรกจนกลายเป็นบุคลิกภาพของสินค้าและเอกลักษณ์ขององค์กรที่ยืนยาวสืบต่อมา Bernard Arnault เจ้าของสินค้าดัง “ดิออร์” และแบรนด์ดัง ๆ อีกหลายแบรนด์ กล่าวว่า “สิ่งที่ผมชอบคือความรู้สึกที่สัมผัสได้ด้วยอารมณ์...และแน่นอนยิ่งเมื่อผมได้เห็นผลลัพธ์จากยอดขายที่พุ่งกระฉูด” วันนี้โลกที่ก้าวหน้าไปด้วยเทคโนโลยี แต่แนวความคิดและการตัดสินใจของมนุษย์กลับไปอยู่ที่อารมณ์มากกว่าเหตุผล ทุกอย่างอยู่ที่ “ใจ” มากกว่า “สมอง” คนรุ่นใหม่มองไปที่องค์กรด้วยอารมณ์และความรู้สึก ความรู้สึกเกี่ยวพันทางอารมณ์ที่ซ่อนลึกในใจ คนมิได้มองสินค้าเป็นเพียงสินค้า Commodities ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน วันนี้ยิ่งในโลกของ Social Media ที่ให้โอกาสผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น แสดงความรักผูกพันจนกลายเป็นสัมพันธภาพระหว่างแบรนด์และมนุษย์ วัฒนธรรมใหม่ คือ จิตวิญญาณใหม่ของแบรนด์ ขณะที่ Marc Gobe ได้ให้ข้อคิดว่าการที่สินค้าใด แบรนด์ใด สามารถสร้างเสน่ห์ฝังลึกจนเข้าไปอยู่ในห้วงจิต ห้วงคำนึงของกลุ่มเป้าหมายได้ก็กลายเป็นความผูกพันในสังคม และวิถีชีวิตที่ยิ่งอยู่นานก็กลายเป็นวัฒนธรรมกลุ่มย่อย กลายเป็นประเพณี กลายเป็นค่านิยม มีพิธีกรรม มีการรวมพลัง รวมใจ กลายเป็นสังคมกลุ่มย่อยที่มีความรักผูกพันในสิ่งเดียวกัน เมื่อขาดหายไปก็เกิดความถวิลหา ยิ่งเป็นสังคมที่สามารถสื่อสารกันได้ในระหว่างกลุ่มสมาชิกหรือที่หลายคนถึงขนาดยอมเรียกตัวเองว่า “สาวก” เพราะรักและบูชาแบรนด์นั้นประหนึ่งวีรบุรุษในดวงใจ ยอมติดตามเป็นทาสตลอดไป สิ่งที่นักการตลาดยุคใหม่และบรรดานักบริหารในองค์กรระดับสูง จะต้องไหวตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ของผู้บริโภค วิถีชีวิต ความคิด และแรงปรารถนาที่ซ่อนลึกไว้ในใจ คือการเร่งทำความเข้าใจกระแสใหม่ วิถีชีวิตของคนที่แบ่งแยกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ทั้งกลุ่มผู้อาวุโส Baby Boomers กลุ่มผู้บริหารระดับกลาง Generation X กลุ่มวัยรุ่น Generation Y และกลุ่มเชื่อมระหว่าง XY สิ่งที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือ สื่อโฆษณาทาง Media โทรทัศน์ปกติที่ต้องเผชิญกับ Cable TV นับร้อยช่อง สื่อที่ไม่ใช้กระดาษคือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็น Twitter ทั้งข้อความไม่กี่คำไปยังคนนับล้านในพริบตา YouTube ที่สามารถดูโฆษณา ดู Clip ได้เร็วในพริบตาทั้งปัจจุบันและย้อนหลัง Facebook สังคมที่สื่อสารกันระหว่างคนกว่า 500 ล้านคนทั่วโลก ทำให้แบรนด์ในปัจจุบันต้องรีบพลิกตัวให้เข้ากับ Social Brand คือ แบรนด์สำหรับสังคมในกลุ่มนี้ สิ่งที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในสหรัฐคือ การที่คนรุ่นใหม่รวมพลังสามารถโน้มน้าวคนรุ่นเก่า สร้างจากคนโนเนม จากนักการเมืองผิวดำหนุ่มคนชั้นกลางที่ถูกปรามาส ถากถางไม่มีใครเชื่อ วันนี้สื่อใหม่และคนรุ่นใหม่เหล่านั้นสามารถส่ง Barack Obama นักการเมือง Gen XY เข้าไปเป็นประธานาธิบดีที่ยิ่งใหญ่ในทำเนียบขาวได้ เป็นการโชว์พลังของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการ “เปลี่ยนอเมริกา” ให้โลกเห็นประจักษ์ตา บัญญัติ 10 ประการ Emotional Branding ของ Marc Gobe บัญญัติที่ 1 การเปลี่ยนมุมมองจาก “ผู้บริโภค” ให้เป็น “ประชาชนคนธรรมดา” ในความคิดของบรรดาเสนาธิการตลาด ซึ่งในยุคหลังได้ใช้คำศัพท์การทหารและการรบมาแทนคำว่าลูกค้าหรือผู้บริโภคจะมองลูกค้าเป็นกลุ่มเป้าหมาย (ที่จะต้องโจมตียึดครอง) มองลูกค้าเป็นเหยื่อที่จะหลอกล่อใช้กลยุทธ์ให้ตายใจเพื่อจะชนะใจ เพื่อขายสินค้าให้ได้ และทุกบริษัทก็ตั้งเป้าหมายคิดแบบเดียวกัน วันนี้โลกได้เปลี่ยนใหม่แล้ว ผู้บริโภคไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายทางการตลาดอีกต่อไป สิ่งที่นักการตลาดยุคใหม่จะต้องเปลี่ยนความคิดตัวเองว่า “ลูกค้า” หรือ “กลุ่มเป้าหมาย”เหล่านั้น คือมนุษย์ธรรมดาที่มีชีวิตจิตใจ คือ คนในบ้าน เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมสังคม เพื่อนร่วมโลกที่เราจะต้องศึกษา ทำความเข้าใจ ใช้ภาษา ให้ความรู้ ให้แนวคิดมากกว่าการใช้โฆษณายัดเยียด บังคับให้ฟัง การตลาดยุคใหม่คือการสร้างความรัก ความผูกพัน สร้างความสัมพันธ์ ชนะใจ (แบบ Win-Win) ไม่ดูถูกภูมิปัญญาลูกค้า ทำตัวเราให้ดีน่าคบหาสมาคม เป็นสัมพันธภาพที่สร้างสรรค์ และคนเหล่านี้จะเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีของเราในการหานวัตกรรมหรือไอเดียใหม่ ๆ ดี ๆ แค่เพิ่งเริ่มตอนใหม่ยังน่าสนใจซะขนาดนี้ ใครที่สนใจอยากทำธุรกิจแนะนำเลยว่ายังไงต้องติดตามให้ได้สำหรับตอนที่ 2 ต่อเนื่องจากตอนนี้ ประกันได้เลยว่าคุณไม่ผิดหวังแน่ แล้วพบกันใหม่ในตอนที่ 2

Tag :