ติด “เฟซบุ๊ก” เสี่ยงซึมเศร้า

by ThaiQuote, 25 สิงหาคม 2561

วารสารการแพทย์กุมารเวชศาสตร์ สหรัฐอเมริกา ระบุว่า "ผู้ที่ใช้เวลาอยู่บนเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง เฟซบุ๊ก อาจได้รับความทุกข์ทรมานจาก สภาวะซึมเศร้าจากเฟซบุ๊ก (Facebook Depression Syndrome) เพราะเฟซบุ๊กเป็นสื่อที่เชื่อมโยงผู้คนทั่วโลก ได้สื่อสารผ่านภาพ ข้อความ วีดีโอ เป็นที่นิยมมาก และมันอนุญาตให้ผู้ใช้ในนั้นได้ "บิดเบือนความเป็นจริง" ของโลก ซึ่งอาจทำให้เด็กวัยรุ่นติดและหลงใหลในเนื้อหาเหตุการณ์รอบข้างต่างๆ   ทั้งนี้ คณะวิจัยกุมารแพทย์ ได้ทำการวิจัยวัยรุ่นอเมริกัน พบว่า 72% ที่ใช้เวลาอยู่บนเฟซบุ๊กค่อนข้างมาก มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ โดยเด็กที่ถูกเพื่อนๆหลบหนีหน้าหรือรังเกียจในโลกเฟซบุ๊กจะเป็นอันตรายมากกว่าเด็กๆที่ถูกเพื่อนปฏิเสธในโลกแห่งความจริง และในหลายๆ รายอาจนำไปสู่การซึมเศร้ามีปัญหาสุขภาพจิตในระดับลึกและมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายได้"   นอกจากนี้ยังพบว่า เฟซบุ๊ก สร้าง "ความเป็นจริงเทียม" คือ ผู้ใช้มักจะโพสต์แต่เรื่องด้านดีด้านเดียวของชีวิต และหลบซ่อนเรื่องแย่ ๆ ของตนเอง หรืออะไรก็ตามที่พวกเขาอยากจะปกปิด หรืออยากสร้างภาพ ผลที่ตามมาก็คือ ผู้ที่เข้ามาชมมาดูมาอ่าน ก็จะเห็นแต่ภาพชีวิต "ที่มีความสุขและสมบูรณ์แบบ" จนกลายมาเป็นความรู้สึกเปรียบเทียบกับชีวิตตนและรู้สึกว่า ตนเอง "ไร้ค่า และไม่ดีพอ"   เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว เราจะทำอย่างไรไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ "โรคซึมเศร้าจากเฟซบุ๊ก" ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า เฟซบุ๊กไม่ใช่โรคระบาด ไม่ใช่เชื้อโรคในทางการแพทย์ แต่เฟซบุ๊กคือ "ปรากฏการณ์" ที่ถูกออกแบบให้เราสามารถเชื่อมต่อกับผู้คนทั่วโลกได้อย่างที่ไม่เคยมีสื่อไหนทำได้มาก่อน เป็นสื่อดีที่สุดในการสร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ และรื้อฟื้นความสัมพันธ์เก่าๆ กับเพื่อนที่เราจากหายไปนานเข้าด้วยกันได้ หลายๆคนใช้เวลาไปมากกับการเฝ้าดู เฝ้ามองชีวิตของคนอื่นๆ และเกิดสภาวะซึมเศร้าจากการเปรียบเทียบกับชีวิตของตนเอง   เราลองมาดูกันว่า คุณมีอาการเป็น "โรคซึมเศร้าจากเฟซบุ๊กหรือไม่?"  
  1. มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความเป็นจริงที่เป็นสุข ของเพื่อนๆ ในเฟซบุ๊ก
  2. ตกเป็นเหยื่อทางอารมณ์ของกิจกรรมชีวิตประจำวันของผู้อื่นๆ
  3. มักเปรียบเทียบระดับคุณภาพชีวิตของตนเองกับเพื่อนๆ อยู่เสมอ
  4. คุณมักเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ของตนเองอยู่เสมอ เพื่อเรียกร้องคามสนใจ
  5. รู้สึกกระวนกระวายใจ เมื่อไม่สามารถเช็คข้อความ ข่าวสาร หรือ สถานะของคุณได้เหมือนที่ทำเป็นปกติ
  6. คุณมักลับสมองและค้นหาข้อความขำขัน แหลมคม อัพเดทสถานะแบบดึงดูด หรือโพสต์บทความต่างๆ ที่สร้างภาพหลอกลวงว่าคุณเก่ง คุณเจ๋ง คุณเกาะติด หรือเป็นผู้นำ มีความสุขและน่าตลกขบขัน
  หากคุณมีอาการเหล่านี้อย่างน้อย 2 ข้อ แสดงว่าคุณเป็นโรค Facebook Depression แล้วค่ะ   วิธีการเยียวยาที่ดีที่สุด คือ "งด-หลีกเลี่ยงการใช้งานเฟซบุ๊ก" ลง เช่น ลดจำนวนเวลา ความถี่ และความสนใจจากข้อความต่างๆ หรือความรู้สึกที่อยากจะโพสต์ลงบ้าง มันจะทำให้คุณรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น   นอกจากนี้คุณต้องรู้เท่าทันว่า โพสต์ดี ๆ ของแต่ละ เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเจ้าของโพสต์จะไม่มีชีวิตในด้านลบเลย   ขอบคุณข้อมูล  ธามเชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.)
Tag :