“ดร.สมฤดี ศรีจรรยา” จากอารมณ์ผูกพันแห่งแบรนด์ สู่ยุทธศาสตร์แยกกลุ่มลูกค้าที่คุณต้องรู้

by ThaiQuote, 26 กันยายน 2560

บัญญัติที่ 9 เปลี่ยนมุมมองจาก “การสื่อสารทางเดียว” ให้เป็น “การสนทนาสองทาง” ดร.สมฤดี กล่าวว่าปัจจุบันองค์การตลาดส่วนใหญ่ยังนิยมใช้การโฆษณาทางโทรทัศน์ ทางนิตยสาร ทางวิทยุ บิลบอร์ด ฯลฯ ซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียวแต่ก็เป็นวิธีง่ายและเร็ว แม้จะต้องใช้งบประมาณมหาศาล นอกจากนั้นยังมีแคตตาล็อก ใบปลิว ใบราคาและสื่อต่าง ๆที่คิดมาเพื่อขยายการรับรู้ให้กว้างไกลที่สุด ขณะที่ในวงการรถยนต์เริ่มนิยมการออกงานมอเตอร์โชว์ที่จัดอย่างใหญ่โต มีพริตตี้ประจำซุ้มคอยอธิบายแม้ในโชว์รูมก็เช่นกัน บางรายก็ไปจัดโชว์ตามห้างต่าง ๆเพื่อปิดการขายเพราะการโฆษณาเป็นการดึงคนให้เข้ามาที่โชว์รูม พนักงานเหล่านี้คือผู้ที่ปิดการขายเท่ากับเป็นการสื่อสารสองทาง ปัจจุบันสินค้าใหม่ ๆก็นิยมไปจัดซุ้มส่งเสริมการขายตามห้างและซูเปอร์มาเก็ต มีพนักงานพีซีตามร้านสะดวกซื้อ เช่น บู๊ท วัตสัน ในโลกแห่งการสื่อสารยุคใหม่ เคเบิ้ลทีวีหลายร้อยช่องทำให้แนวความคิดในการขายสินค้าได้เปลี่ยนไป มีการขายตรงทางทีวีเชิญชวนให้คนโทรเข้ามาในเวลานั้นเวลานี้ แต่ยิ่งกว่านั้นคือสื่อ Social Media ใหม่ที่มีการสร้างเว็บ สร้างบล็อกของบริษัท การเข้ามาสอบถามขอข้อมูล การเจรจาต่อรอง สั่งซื้อ การใช้ Twitter, SMS, Facebook, Youtube ฯลฯ เท่ากับเปิดโอกาสให้ลูกค้ายุคใหม่ได้มีการต่อรอง การอาศัย Google เป็น Search Engine เพื่อพูดคุยกับลูกค้าอื่นที่ซื้อสินค้าและมีประสบการณ์เกี่ยวกับสินค้านั้น ทำให้ลูกค้ามั่นใจเกิดอารมณ์ร่วม เกิดความเชื่อถือในคำแนะนำแม้คนนั้นจะเป็นคนแปลกหน้าก็ตาม บัญญัติที่ 10 การเปลี่ยนมุมมองจาก “การบริการ” ให้เป็น “สัมพันธภาพ” ขณะที่ในเรื่องของการบริการถือเป็นหน้าที่ปกติของการขายที่ต้องทำเป็นประจำสม่ำเสมอ แต่เป็นการทำตามหน้าที่เมื่อจบแล้วก็จบกัน แต่การสร้างสัมพันธภาพที่ดีและเหมาะสมกับลูกค้าถือเป็นความสามารถพิเศษ หากองค์กรใดสามารถอบรมฝึกฝนให้เข้าไปในจิตวิญญาณจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร เช่นเมื่อเราเดินเข้าไปในร้าน Apple ที่ได้รับการต้อนรับด้วยพนักงานที่พูดจาภาษาเดียวกัน ช่วยเหลือบริการอย่างน่าประทับใจย่อมเกิดความรู้สึกที่ดี การเดินเข้าไปในร้านสุกี้ MK ที่มีพนักงานมากมายคอยบริการอย่างไม่ขาดตอนแถมยังมีเสน่ห์ด้วยการออกกำลังตามเพลงทำให้เกิดอารมณ์ร่วม เมื่อจบลูกค้าก็จะปรบมือให้เกียรติ พนักงานที่กล่าวคำต้อนรับลูกค้ายิ้มแย้มแจ่มใสเลือกหยิบสินค้าให้ดู แม้ไม่ซื้อก็ไม่เป็นไร ทำให้คนซื้อเกรงใจจนต้องกลับมาซื้ออีก หรือพนักงานขายน้ำหอม เครื่องสำอางที่จำลูกค้าได้ พนักงานขายชุดชั้นในที่อ่านลูกค้าออกในเรื่องสไตล์สีสัน ขนาด ทำให้ลูกค้าประทับใจและยอมฟังคำแนะนำเพราะบางครั้งลูกค้าเองไม่แน่ใจว่า เดี๋ยวนี้แฟชั่นเขาไปถึงไหนกันแล้ว สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือการสร้างให้เกิดอารมณ์ผูกพัน เกิดความพึงพอใจและลึกซึ้งไปจนถึงเเบรนด์สินค้า ยิ่งถ้าสินค้านั้นมีคุณภาพดีสมตามคำแนะนำลูกค้าก็จะเกิดความผูกพันกับแบรนด์นั้นชื่นชม เรียกหา ถ้าไปร้านใดไม่มีสินค้าแบรนด์นั้นก็จะไม่เข้าร้านนั้นอีก นี่คืออารมณ์ผูกพันแห่งแบรนด์ ยุทธศาสตร์การแยกกลุ่มลูกค้าเพื่อแยกอารมณ์และวิถีดำเนินชีวิต นอกจากนี้ กูรูด้านเศรษฐศาสตร์ การตลาด ยังได้กล่าวต่อว่า หนังสือ Emotional Branding py’ได้แสดงตัวอย่างการวิเคราะห์เจาะกลุ่มผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีวิถีชีวิตและแนวการดำรงชีวิตแนวโน้มคล้ายคลึงกับหลายประเทศทั่วโลก โดยแบ่งกลุ่มผู้บริโภคที่ใหญ่สุดเป็น 3 กลุ่ม คือ
  • กลุ่มผู้อาวุโสที่เกิดหลังสงครามที่เรียกว่า Baby Boomers ซึ่งอายุประมาณ 46 – 65 ปี
  • กลุ่มผู้ใหญ่เต็มตัว คือ Generation X ซึ่งช่วงหนึ่งถือเป็นคนรุ่นใหม่ แต่บัดนี้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับกลางและสูง กำลังรุ่ง อายุระหว่าง 29 – 45 ปี
  • ส่วนกลุ่มที่ถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน คือ กลุ่ม Generation Y อายุประมาณ 10 – 28 ปี
โดยทั้ง 3 กลุ่มนี้มีวิถีชีวิต ประสบการณ์ แรงบันดาลใจ อารมณ์ นิสัย ที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด มุมมองชีวิต โลกและสังคมก็แตกต่าง ภาษาที่ใช้ เพลงที่นิยม ความบันเทิงที่ชื่นชอบ แยกจากกันเห็นได้ชัดเจน เนื้อหากำลังเข้มข้นทีเดียวสำหรับ ยุทธศาสตร์การแยกกลุ่มลูกค้าเพื่อแยกอารมณ์และวิถีดำเนินชีวิต อดใจไว้ตามกันต่อในตอนหน้า แต่บอกกล่าวไว้ก่อนล่วงหน้าเลยว่าดีมากอยากให้ติดตามกันให้ได้ เพราะตรงใจที่สุดสำหรับคนทำธุรกิจ แล้วพบกันใหม่ในตอนหน้า
Tag :