“กะหล่ำปลี” ทำไมกินดิบไม่ได้ ไปฟังคำตอบกัน

by ThaiQuote, 1 ตุลาคม 2560

ผศ.ชนิพรรณ บุตรยี่ อาจารย์ประจำหลักสูตรพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่าจริง ๆแล้วไม่ได้ห้ามรับประทานดิบโดยสิ้นเชิง เพียงแต่ผู้ป่วยบางกลุ่มอาจต้องระวังเรื่องการกินกะหล่ำปีดิบเท่านั้นเอง!! โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) ซึ่งเป็นภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ ไม่ควรกินกะหล่ำปลีดิบ เพราะในกะหล่ำปลีจะมีสารชื่อ กอยโตรเจน (Goitrogen) ซึ่งอยู่ในกลุ่มของสารที่ขัดขวางการสร้างฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์ ทำให้ร่างกายนำไอโอดีนไปใช้สร้างฮอร์โมนธัยรอกซินได้น้อยกว่าปกติหรือทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำยิ่งขึ้น แต่หากนำกะหล่ำปลีไปผ่านความร้อน สารกอยโตรเจนก็จะสลายไป สำหรับคนที่ร่างกายปกติไม่ได้มีปัญหาในเรื่องสุขภาพสามารถกินได้ เพราะประโยชน์ของเจ้ากะหล่ำนั้นมีมากมาย มีสารที่เรียกว่าไอโซไทโอไซยาเนต (Isothiocyanate) เป็นสารที่สามารถกระตุ้นเอนไซม์ทำลายสารพิษ ที่สำคัญยังมีสารพฤกษเคมี ( Phytochemical) มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ช่วยแก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง ช่วยแก้และบรรเทาอาการท้องผูก ป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน และช่วยแก้อาการเจ็บคอ เป็นต้น แต่ถ้าใครกังวลสารกอยโตรเจนก็อาจนำไปนึ่งผ่านความร้อนเล็กน้อย สารกอยโตรเจนก็จะหายไปบ้าง ในขณะที่สารไอโซไทโอไซยาเนตจะสลายไปเล็กน้อยก็ไม่เป็นอันตรายกับคนปกติ ผศ.ชนิพรรณกล่าว นอกเหนือจากนี้สิ่งที่ต้องกังวลคือ สารเคมีหรือยาฆ่าแมลงตกค้างในกะหล่ำปลี ก่อนนำมารับประทานจึงควรล้างทำความสะอาดให้ดี   ที่มา: สสส,https://health.campus-star.com/general/8676.html

Tag :