เปิดใจ ‘ไกด์ กัญชาชน’ ผู้จุดกระแสกัญชาถึงวันใช้จริงเพื่อ”ทางการแพทย์”

by ThaiQuote, 13 กรกฎาคม 2562

เรื่องและภาพ วรกร เข็มทองวงศ์

พูดคุยกับผู้ก่อตั้งแฟนเพจกัญชาชน ต้นธารจุดกระแสกัญชาการแพทย์ มองภาพรวมเส้นทางกัญชาในวันนี้

 

ดูเหมือนว่า กระแสกัญชาทางการแพทย์ ในบ้านเมืองเรานี้ กำลังไปได้สวย และเป็นความหวังกับผู้ป่วยในโรคต่างๆมากขึ้นตามลำดับ ฝ่ายรัฐก็ให้ความสนใจ อำนวยความสะดวกเท่าที่กฎหมายในเวลานี้จะทำได้ ด้านประชาชน ก็เริ่มที่จะมองภาพลักษณ์ของพืชชนิดนี้ต่างจากอดีต แม้แต่ฝ่ายการเมืองเอง ก็ให้การสนับสนุน และต่อยอดไปในนโยบายของพรรค
เหมือนว่า ทุกอย่างกำลังไปได้สวยที

แต่จริงหรือ?

แดดร่มลมตก ผมนั่งอยู่ด้านหน้า ร้าน HIGHLAND Cafe’ คาเฟ่ธีมกัญชาแห่งแรกในไทย เบื้องหน้าเป็นชายคนที่ผมมาสัมภาษณ์ และเป็นชายในกลุ่มคนแรกๆ ที่นำเสนอแนวคิดกัญชาทางการแพทย์ให้กับสังคมนี้ แน่นอน ผมกำลังพูดถึง กลุ่มกัญชาชน และชายที่เอ่ยถึงคือ รัฐพล แสนรักษ์ หรือ ไกด์ ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กแฟนเพจ กัญชาชน

 


‘พูดถึงสังคมก่อนเลยป็นอันดับแรก ผมมองว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ และตอนนี้มันมาถึงจุดๆหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นก้าวกระโดดเลยก็ว่า อยู่ดีๆกระแสมันก็ไปเร็วมาก จากวันแรกที่เราเริ่มต้นทำงานมา ค่อยๆแทรกซึมเข้ามา มีความดาร์กๆหน่อย แรกๆคนยังไม่เข้าใจสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสาร ยังไม่มีใครเชื่อแนวคิดและแนวทางที่เรานำเสนอ พอมาถึงจุดๆหนึ่ง มันกลายเป็นว่า ทุกอย่างมันไปเร็วมาก ทุกคนโอเค หลายคนเชื่อในสิ่งที่เราพยายามบอกกับสังคม เห็นแล้ววว่ามันใช้ได้ผลจริง สามารถรักษาโรคได้ มีการทดลองรักษาโรคแบบจริงจัง ในเวลาไม่ถึงปี หรือในช่วงปีที่ผ่านมานี้ กลายเป็นเหมือนไฟลามทุ่ง’ รัฐพล ตอบคำถามแรกของผม ที่ว่าให้เขามองภาพรวมทุกมิติของกัญชาจากวันแรกที่เขาทำงานจุดประเด็นให้สังคมนี้ จนมาถึงวันที่ทุกคนหันมาสนใจกันอย่างพร้อมเพรียง
ในฐานะที่เขาและเพื่อนพ้อง เป็นกลุ่มคนแรกๆ ที่ออกมาบอกกับสังคม ถึงแง่มุมที่ดีของกัญชาในบ้านเรา จากยาเสพติด ให้เป็นยารักษาโรค ผมถามตรงๆว่ารู้สึกภูมิใจหรือไม่ ที่เป็นคนจุดกระแสขึ้น รัฐพล บอกว่า มันเหมือนเป็นรางวัลของชีวิตก็ว่าได้ เพราะตนหวังว่าอยากให้มันเกิดสิ่งนี้ขึ้น และมันก็เกิดขึ้นจริง

สำหรับการใช้น้ำมันกัญชาแล้วมีผลข้างเคียงนั้น รัฐพล ตอบอย่างชัดเจนว่า คิดไว้แล้วว่าวันนี้ต้องมาถึง ซึ่งหมายความว่า มันมาถึงจุดที่คนใช้กันเยอะขึ้น แต่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้ที่ถูกวิธี

‘ในอีกด้านหนึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงนตามไม่ทันต่อความต้องการของคนใช้ เพราะกระแสมันมาอย่างรวดเร็ว ปริมาณความต้องการมีจำนวนสูงมาก แม้แต่ตัวผมเอง ก็ไม่ทันตั้งตัวว่ากระแสมันจะมาขนาดนี้ สิ่งที่เราเห็นว่า คนใช้แล้วเข้าโรงพยาบาล ใช้แล้วรู้สึกแย่ อาการไม่ดี เรารู้อยู่แล้วว่ามันจะเกิดขึ้น พูดตรงๆว่า อย่างไรมันก็ต้องเกิดขึ้น เพราะมันจะมีการใช้แบบนี้ เพราะในต่างประเทศก็เคยมีกรณีแบบนี้เกิดมาแล้ว ถามว่าน่ากังวลไหม มันก็น่าเป็นห่วงอยู่เพราะว่า มันไม่ได้มีผลดีอย่างเดียว การไปใช้เกินปริมาณที่ร่างกายรับไหว มันก็เป็นแบบนี้’

เส้นทางของกัญชาที่เดินมาไกลถึงวันนี้ รัฐพล บอกเล่าว่า สิ่งที่ทำต่อเนื่องจากแฟนเพจ งานกิจกรรม ตอนนี้ก็คือคาเฟ่ เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับให้คนที่สนใจสิ่งเดียวกัน เป็นคอมมูนิตี้ที่ตั้งใจทำขึ้นมา สามารถมานั่งพูดคุยแลกเปลี่ยน มาเจอกัน ทำอะไรร่วมกัน อาจจะสามารถเกิดกิจกรรมดีๆต่อเนื่องขึ้นได้ในอนาคต

 

 

‘อีกด้านหนึ่งคือการผลักดันทางด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรื่องการแพทย์ที่กฎหมายเปิดช่องแล้ว ตอนนี้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาในหลายที่ ที่พยายามตั้งรัฐวิสาหกิจชุมชนเรื่องกัญชา’

รัฐพล อธิบายต่อไปอีกว่า ในตอนนี้ตามที่กฎหมายเปิดให้ สามารถทำการปลูกกัญชาทางการแพทย์ได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพียงแต่ในขณะนี้การปลูกกัญชา ต้องมีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนในเรื่องของวิทยาศาสตร์การเกษตร การแพทย์ การแพทย์แผนไทย เภสัชศาสตร์ เป็นภาควิชาที่กฎหมายระบุชัดเจนว่าทำได้ แล้วก็พวกวิสาหกิจชุมชน สหกรร์ทางการเกษตร ถ้าจะทำ ทำได้ แต่ก็ต้องไปร่วมกับหน่วยงานรัฐ ซึ่งเป็นข้อกำหนด

‘แต่สุดท้าย ทำได้ไม่ได้ มันวนกลับไปที่คำว่า ทำไปเพื่ออะไร ถ้าสมมุติ อยู่ดีๆเราอยากปลูกขึ้นมา ร้อยไร่ พันไร่ ถ้าแบบนี้เขาจะไม่อนุญาตให้ทำ เพราะว่าปลายทางมันไม่มี ในปัจจุบันตัวตั้ง ปลายทางมันไปไหน ก่อนที่เกษตรกร หรือ วิสาหกิจชุมชนจะปลูกได้ ตัวตั้งมันไปอยู่ที่ปลายทางก่อน สมมุตว่า วิสาหกิจชุมชน ก. ไปจับมือกับ โรงพยาบาล ข. เมื่อผลิตออกมา ส่งไปให้โรงพยาบาลสกัดออกมาเป็นน้ำยา เพื่อแจกจ่ายคนไข้ในจำนวนเท่านั้นเท่านี้ น่าจะทำได้ น่าจะทำได้ เพราะมันครบวงจร’

ในเรื่องการเป็นที่ปรึกษาให้กับชุมชนที่ต้องการผลักดันวิสาหกิจขึ้นมา รัฐพล เล่าต่อไปว่า ในระดับตำบล ในระดับอำเภอ ต้องให้ขอบเขตการทำงานมันเกิดขึ้นให้ครบวงจรก่อน ก็คือการเชื่อมโยงกับองคืกรที่อธิบายไปข้างต้น เมื่อภาพใหญ่ขั้นตอนเส้นทางมันชัดเจนแล้วนั้น ถัดมาก็เป็นเรื่องการลงรายละเอียดว่า จะใช้กัญชาไปกับโรคอะไรบ้าง เช่น ใช้กับเด็กที่เป็นโรคลมชัก หรือในผู้ป่วยที่เป็นโรคพากินสัน ก็อาจจะต้องไปปลูกในสายพันธุ์ที่เป็น CBD (กลุ่มแคนนาบินอยด์ -Cannabidiol ) เท่านั้น รวมทั้งการที่จะใช้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งหรือผู้ป่วยะยะสุดท้าย อาจจะต้องหาสายพันุ์ตั้งต้นที่เหมาะสม

‘คือเราก็ต้องคิดก่อนว่า ปลายทางมันเป็นอย่างไร แล้วเราค่อยย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นว่า เราควรที่จะผลิตโปรดักออกเพื่อสิ่งนี้อย่างไร การปลูกเป็นแบบไหน สายพันธุ์ที่จะใช้มันเป็นแบบไหน เหมาะสมกับสภาพอากาศหรือเปล่า ต้องใช้โรงเรือนแบบไหน หรือจะต้องปลูกแบบกลางแจ้ง นี่คือสิ่งที่เราเข้าไปให้ความรู้ในส่วนนี้ ซึ่งมันคือความรู้องค์รวมของทั้อุตสาหกรรมที่เราเข้าไปช่วย’

ส่วนเรื่องของการเติบโตของอุตสาหกรรมกัญชาในอนาคตนั้น รัฐพลบอกว่า มันก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดทางการแพทย์ แต่ปัญหาคือการเข้าถึงองค์กรของภาครัฐ รวมทั้งศักยภาพของกลุ่มเกษตรกร เราะมันต้องมีการไปคุยทั้งโรงพยบาล คุยกับทางผู้ว่าราชการจังหวัด หรือแม้แต่อธิการบดีมหาวิทยาลัย เพื่อเชื่อมโยงกัน ถ้าคุณเป็นเยงชาวบ้านธรรมดา เป็นวิสาหกิจชุมชนจดทะเบียนกัน 7 คน คุณจะสามารถมีกำลังที่จะเข้าไปเชื่อมโยงกับกลุ่มเหล่านี้ได้หรือไม่ ส่วนตัวเขามองว่า ไม่ สุดท้ายที่เขามองเห็นภาพว่า วิสาหกิจชุมชนทที่เกิดขึ้น อาจจะกลายเป็นเพียงแรงงาน ที่ทำเพื่อสนับสนุนในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น

 

 

เมื่อถึงคำตอบนี้ ผมเกิดความสงสัยในเรื่องกัญชาอัดแท่ง ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ส่งมอบกัญชาของกลางจำนวน 18 ตัน ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจสอบว่าใช้ทำยาได้หรือไม่ ปรากฏว่า จาก 18 ตัน ใช้ทำยาได้เพียง 7กิโลกรัมเท่านั้น และมีอีก 2 ตัน ที่ยังก่ำกึ่งในการที่จะนำมาใช้งาน รัฐพล บอกว่า มันเอามาใช้ทำยาได้ แต่ต้นทุนในการสกัดมันจะสูง และในระยะยาวจากสายตาผู้เชี่ยวชาญ เขามองว่าใช้กัญชาอัดแท่งมาทำยา มันไม่คุ้มค่า เพราะในกระบวนการสกัด มัมีรายละเอียดมากมายที่จะทำให้กัญชาอัดแท่งบริสุทธิ์ และที่สำคัญปริมาณสารที่สามารถนำมาใช้เป็นยาก็จะหายไปเรื่อยๆ ในขั้นตอนการกำจัดสารปนเปื้อน

ส่วนในเรื่องการใช้เพื่อสันทนาการ รับพลออกตัวว่า ไม่ใช่หน้าที่เขาที่จะสามารถบอกได้ว่า สังคมไทยพร้อมหรือไม่ที่จะก้าวไปขั้นนั้น ส่วนตัวเขามองว่าเมื่อไปถึงจุดนั้น ก็คงจะมีการพูดคุยกันอาจจะนำไปสู่การทำประชาพิจารณ์ เพราะประเทศไทยเป็นสังคมประชาธิปไตย

สำหรับหน่วยงานรัฐที่ดูแลเรื่องงานเสพติดอย่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) รัฐพลเล่าให้ฟังอย่างต่อเนื่องว่า จากที่ทำงานร่วมกันมาตลอด 4-5 ปี มีบ้างบางกิจกรรมที่เราจัดขึ้น เขาอาจจะไม่เข้าใจ พอถึงเวลาเห็นกิจกรรมที่เราจริงๆ ก็ถือว่าหน่วยงานก็เข้าใจมากขึ้น ในช่วงหลังเวลามีประชุม ก็ได้รับเชิญให้เข้าไปฟัง และได้ร่วมงานกับหน่วยงานรัฐหลายๆหน่วยงานมากขึ้น

‘ส่วนที่ถามว่า กัญชามีโอกาสถูกถอดจากบัญชียาเสพติดไหม มีโอกาส แต่คำถามต่อมาคือ เมื่อถอดออกมาแล้ว กัญชาจะไปอยู่ตรงไหน นี่คือสิ่งที่เราต้องตอบ ไม่ใช่แค่สังคม แต่ต้องตอบกับประชาคมโลก เพราะจริงๆแล้วมันต้องมีอะไรมารองรับ การถอดกัญชาออกมาจากบัญชียาเสพติดมันไม่ได้จบแค่นั้น ถอดออกมาแล้วจะไปอยู่ตรงไหน สถานะมันเป็นอะไร ควบคุมแบบไหน อย่างไร อันนี้คือคำถามที่เกิดขึ้นต่อมา’

เขามองต่อไปถึงความเป็นไปได้ว่า กัญชาอาจจะยังอยู่ในบัญชียาเสพติด แต่โทษอาจจะลดลงมา จากที่เคยเป็นคดีอาญา ขังคุก มันอาจจะถูกลดทอนลง หรือโทษแค่ขั้นผู้เสพเท่านั้น

ขณะเดียวกัน การใช้กัญชาเพื่อความสนุก ยังเป็นสิ่งที่พบเห็น โดยเฉพาะวัยรุ่นบางส่วน รัฐพลมองว่า วัยรุ่นก็คือวัยรุ่น แต่สุดท้าย มันก็เป็นเรื่องของสิทธิแต่ละคน ถ้าคุณอายุเกินเกณฑ์ คุณสามารถตัดสินใจได้แล้ว คุณสามารถหาเงินเอง ไม่ต้องเดือดร้อนพึ่งพาครอบครัวแล้ว ก็เป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล แต่ถ้ายังต้องอาศัยเงินครอบครัว รวมทั้งเรื่องอายุ ก็ต้องไปคุยกับครอบครัวแล้ว แม้จะใช้สนุกๆ เท่ห์ๆ แต่มันก็มีผลกระทบในเชิงลบที่ตามมา

ด้วยกระแสร้อนแรงของกัญชา ทำให้กลายไปเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของพรรคการเมือง ผมถามว่า มันเป็นเสมือนดาบสองคมหรือไม่ เพราะในมุมหนึ่งนั้น เป็นเรื่องดีที่ตัวแทนประชาชน เข้ามาสนใจผลักดัน แต่ก็บปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเหมือนการหาเสียงหาผลประโยชน์เพื่ออำนาจรับหรือไม่ รัฐพลมองว่า สุดท้ายแล้วการหาเสียงไว้นั้น ปลายทางมันเป็นแบบไหน เป็นไปตามที่พูดไว้หรือเปล่า ประชาชนได้ประโยชน์แบบนั้นจริงหรือเปล่า มันเป็นผลงานที่จะต้องไปวัดผลกันด้วยความพึงพอใจของประชาชนเอง

‘และนี่เป็นคำถามนะ ถ้าทุกบ้านปลูกกัญชาบ้านละต้น แล้วมันจะควบคุมคุณภาพกันยังไง แล้วทุกบ้านปลูกอย่างไร ปลูกเมือนกันทุกบ้านไหม สายพันธุ์เหมือนกันไหม มันมีรายละเอียดเยอะมาก ไหนจะปุ๋ย ดินที่ใช้ปลูก มีการปนเปื้อนยาฆ่าแมลงไหม ก็ถามกลับไปว่าถ้าเป็นอย่างนั้น แล้วจะทำอย่างไรให้คุณภาพมันดีจริง อันนี้เป็นสิ่งที่ผมสงสัย’

อีกประเด็นที่ผมกับเขาได้พูดคุยกันในตอนต้นไปบ้างแล้ว คือ เรื่องความรู้ในการใช้น้ำมันหรือยาจากกัญชา รัฐพลมองเพิ่มเติมด้วยความกังวลว่า ตอนนี้ไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ใช้กันในตอนนี้คืออะไรบ้าง มีปริมาณของสารสกัดมากน้อยขนาดไหน ทำมาจากที่ไหน เจือจางไปเท่าไหร่ พอไม่มีมาตรฐาน ยิ่งทำให้ไม่รู้อะไรเลย

‘บางคนอาจจะใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีการเจือจางมาพอสมควร หยดไป 7-8 หยด ก็ไม่มีผลอะไร แต่ในขณะเดียวกันกับอีกผลิตภัณฑ์ใช้ในปริมาณการหยดเท่ากัน แต่ได้รับการเจือจางไม่มาก ความเข้มข้นมันสูงกว่า ความรุนแรงมันก็สูงกว่า และการใช้ในการกินเข้าไปเนี่ย ปัญหามันคือ มันออกฤทธิ์ช้า ใช้เวลาประมาณ 30 -40 นาทีเป็นอย่างต่ำ ถึงจะเริ่มรู้ถึงการออกฤทธิ์ คนที่ไม่เคยใช้หลายๆคน หยดไป นอนรอ ก็เกิดสงสัยทำไมไม่เห็นรู้สึกอะไร ก็หยดเพิ่มขึ้นๆ ทีนี้ พอมันถึงเวลาออกฤทธิ์ทีเดียวตามกระบวนของมัน มันออกฤทธิ์หนักกว่าการสูบ และมันก็อยู่นาน พอถึงระดับหนึ่ง ก็จะเกิดอาการบ้านหมุน เวียนหัว มีอาการเกร็ง เหงื่อออก หัวใจเต้นแรง และในบางคนก็จะมีอาการที่เรียกว่า เหวอ บ้าง ’

เคยคิดที่จะเขียนตำราการใช้แบบฉบับกัญชาชนขึ้นมาไหม? คือคำถามจากผม ซึ่งรัฐพลกล่าวว่า ในส่วนนี้คงไม่ไปถึงขั้นนั้น ยกให้เป็นหน้าที่ของแพทย์ สำหรับของตนก็มีไกด์ไลน์การใช้เบื้องต้นที่ทำขึ้นมา แต่ลึกลไปในรายละเอียด ปริมาณสารการใช้กี่มิลลิกรัมต้องใช้เท่าไหร่ คงไม่ลงลึกขนาดนั้น

‘กัญชาแบบไหนเหมาะกับการทำยา ‘ เป็นคำถามที่ถามต่อเนื่อง ซึ่งเขาอธิบายว่า ในความเป็นจริงการใช้สายพันธุ์ไหนก็สามารถผลิตยาได้ แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่า ในแต่ละสายพันธุ์ของกัญชา ปริมาณสารสกัดมันก็ไม่เท่ากัน ยาวของต้นในการเติบโตก็ไม่เท่ากัน ยกตัวอย่าง สายพันธุ์ไทยแท้ๆ มันใช้เวลาในเติบโต 6 -8 เดือน หมายความว่า 1 ปีอาจจะสามารถผลิตได้ครั้งเดียว ซึ่งมันก็อาจจะไม่ตอบโจทย์ในอุตสาหกรรมก็ได้ ขณะเดียวกันสายพันธุ์ต่างประเทศบางสายพันธุ์ อาจจะใช้ระยะเวลาการปลูกสั้นกว่า แต่สายพันธุ์เหล่านั้นก็อาจจะไม่เหมาะกับการปลูกในบ้านเรา สุดท้ายเราก็ต้องกลับไปดูจุดเชื่อมโยงว่า เราจะผลิตสายพันธุ์ไหน เพื่อใช้ทำอะไร วิธีการปลุกแบบไหนจึงจะเหมาะสม มันก็ต้องมีกทารศึกษาวิจัย เพราะจริงๆมันก็ไม่มีใครรู้

สำหรับในต่างประเทศการใช้กัญชาทางการแพทย์ รัฐพลอธิบายว่า กัญชาเป็นยาทางเลือก ซึ่งมีความหมายว่า ประชาชนสามารถมีสิทธิที่จะเลือกใช้ได้ ตามกลุ่มโรคที่กำหนดไว้ สามารถไปพบแพทย์เพื่อขอใช้ยาจากกัญชา ส่วนการผลิตก็มีการออกใบอนุญาตประเภทต่างๆเพื่อใช้ในการทำธุรกิจเกี่วกับกัญชา มีการอบรมแพทย์ขึ้นมา เพื่อสามารถออกใบรับรองการใช้และจ่ายยาให้คนไข้ได้อย่างถูกต้อง

‘ยกตัวอย่างถ้ามีการกำหนดให้ไมเกรน สามารถใช้กญชาได้ เรามีสิทธิเลือกที่จะใช้ ไม่ใช่แพทย์จะกำหนดให้เราใช้ยาอะไร แล้วแพทย์ก็จะออกใบรับรองในการใช้ แล้วก้จะไปซื้อได้ที่ไหน ปริมาณการครอบครองสูงสุดกี่กรัม เมื่ออยู่ในปริมาณควบคุม คุณก็จะไม่ถูกดำเนินคดี ไม่ถูกตำรวจจับ ถูกจับก็ไม่เป็นความผิด สำหรับรูปแบบการใช้กัญชาในต่างประเทศก็จะมีความหลกหลาย มีตั้งแต่ขั้นการใช้สูบ โดยผ่านอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ ซึ่งเป็นรูปแบบที่คนไข้ได้รับผลการออกฤทธิ์เร็วที่สุด คนที่เป็นไมเกรนหนัก เช่นตัวผมเอง ก็อาจจะใช้วิธีนี้ได้ เพราะมันเป็นรูปแบบที่ไม่ต้องงรอออกฤทธิ์ ใช้ไปได้ผลทันที รวมทั้งการใช้แผ่นแปะลดปวด เป็นสเปรย์ฉีดลดปวด เป็นยาเหน็บทวาร คือรูปแบบการอนุญาตให้ใช้มีหลากหลายมาก ขอบเขตการกำหนดโรคที่ใช้ได้ก็กว้างกว่า’

ในฐานะที่เป็นคนแรกๆที่ปลุกกระแสสังคมให้ตื่นตัวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ รัฐพลฝากว่า อย่างแรกทุกอย่างมนมีดีมีเสีย เราไม่ได้อวยกัญชาจนมองไม่เห็นข้อเสียเลย สำหรับคนที่จะใช้ แนะนำว่าต้องศึกษาข้อมูลจนให้เข้าใจว่า อย่างน้อยคุณต้องรู้ว่าสิ่งที่คุณจะเอาเข้าไปในร่างกายคุณ มันคืออะไร แล้วมันออกฤทธิ์อย่างไร ผลข้างเคียงมันเป็นอย่างไร และถ้ามีผลข้างเคียงต้องทำตัวอย่างไร

‘อีกอย่างคนที่ทำงานในส่วนของภาครัฐ การเปลี่ยนแปลงมันมาเร็ว และที่สำคัญมันเร็วมาก หลายๆอย่างการทำงานของภาครัฐมันตามไม่ทัน ตอนนี้สิ่งที่ต้องทำคือการรับรอง เพราะมันเกิดขึ้นแล้ว มันมีการซื้อขาย มันมีการใช้กันจริงๆแล้ว การผลิตมันมีแล้ว มันห้ามกันไม่ได้แล้ว ทีนี้ สิ่งที่รัฐต้องทำไม่ใช่การห้ามปรามแต่ต้องออกมารองรับ ไปให้ความรู้ในการผลิต สิ่งที่มันเป็นของจริง มันต้องให้ความรู้ได้ต้องอธิบายได้ว่า ใช้ในปริมาณเท่าไหร่ จะไม่เกิดผลกระทบ แต่ถึงตอนนี้รัฐยังทำอยู่ที่ขั้นตอนการวิจัย และมีกระบวนการการขออนุญาตที่ยุ่งยากหลายขั้นตอน ทุกอย่างมันช้าไปหมด แต่การเคลื่อนของสังคมมันกลับไปเร็วมาก แต่พอมีคนใช้ผิดวิธีไปรวมกันอยู่ที่โรงพยบาล กลับมีการเตือนกันให้ระวังอย่าไปใช้ ซึ่งอย่างเดียวที่รัฐควรจะทำในตอนนี้คือการเข้าไปรองรับ เอาทุกอย่างมาเข้าระบบให้หมด และอีกอย่างพูดมาหลายครั้งแล้วว่า กัญชาคืออุตสาหกรรมใหม่ของโลก วันนี้มันอาจจะอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ในอนาคตมันจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเรายิ่งช้า เราจะยิ่งแข่งกับเขาไม่ได้ และตอนนี้จีนก็เริ่มมาแล้ว’