รู้จัก'วังตรอกสาเก'ที่ประทับ'กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม' สถานที่เลือนลางในความทรงจำ

by ThaiQuote, 17 สิงหาคม 2562

ทำความรู้จัก'วังตรอกสาเก'ที่ประทับอดีตข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลฝ่ายเหนือ เมืองอุดรธานี และคดีความ'พญาระกา'

เมื่อเร็วๆนี้ กรมธนารักษ์ได้ออกข่าวน่าสนใจว่า จะเปิดให้เอกชนเช่าบ้านร้างมีประวัติที่อยู่ในการดูแล เพื่อทำธุรกิจได้ ทำให้ความสนใจเกี่ยวกับอาคารสถานเหล่านั้นเกิเขึ้นในทันที

สำนักข่าว ThaiQuote ก็ขอแนะนำหนึ่งสถานที่ที่น้อยคนรู้จัก ทั้งๆที่อยู่ใกล้กลางพระนคร นั้นคือ 'วังตรอกสาเก'สภาพในปัจจุบันของวังตรอกสาเก ทรุดโทรมลงไปมาก เหลือเพียงพระตำหนักใหญ่ กับตำหนักเล็กเท่านั้น และใครจะรู้ว่า หลังโรงแรมรัตนโกสินทร์ จะมีวังที่ประทับของเจ้านายชั้นสูง ซ่อนเร้นรอวันพังสลายตามกาลเวลา


สำหรับวังตรอกสาเก เป็นวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ที่บริเวณตรอกสาเกหรือหลังโรงแรมรัตนโกสินทร์ เป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เมื่อเสด็จกลับจากมณฑลอุดรธานี โดยภายในวังสร้างจากไม้ทั้งหมด หลังจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมสิ้นพระชนม์ วังนี้ก็ชำรุดทรุดโทรมลงไป

ในปัจจุบันมีคุณน้อยและทายาทเป็นผู้ดูแล สิ่งก่อสร้างในอดีตที่เหลืออยู่ คือตำหนักใหญ่ สร้างด้วยไม้สภาพทรุดโทรมตามอายุการใช้งาน กับตำหนักเล็กของหม่อมเจ้าไศลทอง ทองใหญ่

สำหรับพระประวัติของพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอองค์ที่ 25 ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันเสาร์ เดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช 1218 ตรงกับวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2399 วันประสูติมีผู้นำทองคำก้อนใหญ่ ขุดได้ที่ ต.บางสะพาน ขึ้นทูลเกล้าฯถวาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถือว่า เป็นศุภนิมิตมงคล จึงพระราชทานพระนามว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ เมื่อพระราชทานพระนามได้ทรงพระราชนิพนธ์คาถาพระราชทานพระพร ซึ่งมีคำเเปลดังนี้

"กุมารดีนี้ จงมีชื่อว่า ทองกองก้อนใหญ่ อย่างนี้เทียว โดยเนื้อความเพราะได้ทองแท่งใหญ่ จงไม่มีโรค เป็นสุข มีอายุยืน อันใครๆ ให้กำเริบไม่ได้ จงมีลาภมียศ รักษาเกียรติยศของบิดาไว้ในกาลทุกเมื่อ จงอาจเพื่ออภิบาลกิจของบิดาด้วยความสามารถทั้งปวง จนตลอดชีพ จงได้ทรัพย์สมบัติ สำหรับตระกูล"


กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ทรงศึกษาภาษาต่างประเทศกับ แหม่มแอนนา เลียวโนเว็น จนเชี่ยวชาญเขียน และตรัสภาษาอังกฤษได้ดีเยี่ยม ทรงศึกษาวิชาการด้านกฎหมาย จนได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ไปเป็นแม่ทัพใหญ่ด้านมณฑลลาวพวน แถบเมืองหนองคาย ยกทัพขึ้นไปปราบพวกจีนฮ่อ ที่ยกกำลังเข้าปล้นสะดมราษฎรไทยตามแนวชายแดนไทย-ลาว จนประสบความสำเร็จ และสร้าง อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ ณ เมืองหนองคาย เมื่อปี พ.ศ.2429 เพื่อบรรจุอัฐิทหารไทยที่เสียชีวิตเพื่อชาติในครั้งนั้น

ช่วงนั้นเอง ฝรั่งเศสฉวยโอกาสเข้ายึดแคว้นสิบสองจุไทย โดยอ้างว่าจะนำกำลังเข้าปราบจีนฮ่อ ทำให้เกิดกรณีพิพาทเรื่องอาณาเขตระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ทหารฝรั่งเศสใช้กำลังที่เหนือกว่าบังคับให้ไทยต้องลงนามสนธิสัญญายอมรับสิทธิของฝรั่งเศสเหนือดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และให้ไทยถอยกองกำลังทหารให้ห่างชายแดนแม่น้ำโขง 25 กิโลเมตร กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมจึงย้ายกองบัญชาการไปตั้งที่บ้านเดื่อหมากแข้ง และสถาปนา เมืองอุดรธานี เป็นที่ตั้งทัพ ต่อมาเป็น จ.อุดรธานี วางระเบียบแบบแผนการปกครองหัวเมืองชายแดนอีสานอยู่ 7 ปี จึงเสด็จกลับกรุงเทพ

พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ มีพระอนุชา พระขนิษฐาร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกันอีก 3 พระองค์คือ
พระองค์เจ้าชายทองแถมถวัลยวงศ์ (ภายหลังได้รับสถาปนาเป็นกรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ต้นราชสกุลทองแถม)
พระองค์เจ้าชายเจริญรุ่งราษี
พระองค์เจ้าหญิงกาญจนากร


ทางด้านชีวิตครอบครัวนั้น ทรงมีหม่อมทั้งสิ้น 6 ท่าน มีโอรส 11 พระองค์ และธิดา 15 พระองค์ รวม 26 พระองค์ ชื่อพระโอรสและพระธิดาในกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมนั้น ต่างก็มีนามที่สอดคล้องกันและเกี่ยวกับ "ทอง" แทบทุกพระองค์

พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ ทรงเริ่มการศึกษาวิชาอักษรไทย และบาลี กับพระองค์เจ้ากฤษณา หม่อมเจ้าหญิงจอ และพระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม) และทรงศึกษาภาษาต่างประเทศกับ นางเลียวโนเว็น และ นายแป็ตเตอสัน จนสามารถตรัส และเขียนภาษาอังกฤษได้ดี

ผนวชเป็นสามเณรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ พ.ศ. 2411 และเสด็จไปประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ต่อมาได้ผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามอีกครั้ง เมื่อ พ.ศ. 2418 และประทับที่วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม และได้ศึกษาพระธรรมวินัยกับสมเด็จพระสังฆราช (สา) เมื่อลาสิกขาแล้วทรงศึกษาวิชากฎหมายจากขุนหลวงไกรศรี (หนู) แล้วเข้ารับราชการเป็นนักเรียนศาลฎีกาในสมัยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ เป็นอธิบดีศาลฎีกา

เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2418 ได้เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ขึ้นในประเทศไทยพระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ ได้ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คณะนักดาราศาสตร์อังกฤษได้ตั้งค่ายสังเกตสุริยุปราคาที่แหลมเจ้าลาย จังหวัดเพชรบุรี นักดาราศาสตร์เหล่านี้ไม่สามารถถ่ายภาพสุริยุปราคาไว้ได้ คงมีแต่ภาพวาดฝีพระหัตถ์ของพระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ และถูกบันทึกอยู่ในตำราดาราศาสตร์ ในนามของ Prince Tong

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงกรมเมื่อ พ.ศ. 2424 เป็นกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ทรงเป็นกำลังสำคัญของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการรักษาดินแดนไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือในกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสครั้งวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ทรงเป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้ปราบปรามกบฏจีนฮ่อในมณฑลลาวพวนจนสงบราบคาบ


ในเวลาต่อมาทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ. 2436 ทรงตั้งกองบัญชาการมณฑลลาวพวนที่บ้านหมากแข้ง ทรงสร้างความเจริญจากหมู่บ้านชนบทจนเป็นเมืองอุดรซึ่งต่อมาได้ยกฐานะเป็นจังหวัดอุดรธานี

พ.ศ. 2442 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ

และเมื่อเกิดคดีสะเทือนพระราชวงศ์ครั้งสำคัญ อย่างคดี 'พญาระกา'อันเป็นคดีความเกี่ยวกับ นิทานเสียดสีเชื้อพระวงศ์อันอื้อฉาว ซึ่งเป็นการกระทบกระทั่งกันของพระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรวรรณ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พระโอรสในรัชกาลที่4และเป็นพระปิตุจฉา(อา) กับ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระโอรสในรัชกาลที่5ผู้พระนัดดา

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตอนปลายรัชกาลที่ 5 ซึ่งการละครกำลังเฟื่องฟู กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงมีหม่อมหลายคน และในจำนวนนี้ก็มีนางละครโด่งดังในคณะละครส่วนพระองค์ที่ชื่อ และมีหม่อมคนโปรดนาม หม่อมพักตร์ แต่ไม่ได้เป็นสุขกับฐานะของตน จึงทิ้งตำแหน่งหม่อม หนีออกจากวังไปเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2452 ไปอาศัยอยู่ที่บ้านฝั่งธนบุรี แต่กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เองก็ไม่เต็มพระทัยจะสูญเสียหม่อมพักตร์ จึงทรงติดตามไปเพื่อจะเอาตัวกลับมา เกิดเรื่องราวกับเจ้าของบ้านเป็นเรื่องอื้อฉาวถึงขั้นพวกเขาพร้อมใจกันทำเรื่องถวายฎีกาว่ากรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงบุกรุกเข้าไปถึงในบ้าน เอะอะใหญ่โตเป็นที่เดือดร้อนแก่ราษฎร เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบจากฎีกา ก็มีพระราชดำรัสห้ามกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ไม่ให้ทำอีก

แต่กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ไม่ยอม หม่อมพักตร์ หนีไปพึ่งเจ้าพระยายมราช เสนาบดีกรมตำรวจพระนครบาล ทางเจ้าพระยายมราชเกรงจะเดือดร้อนจึงแนะนำหม่อมพักตร์ให้ไปขอความช่วยเหลือจากกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งพระองค์ท่านก็ทรงต้อนรับและให้การคุ้มครองด้วยดี เรื่องก็สงบไป แต่ว่ากรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ไม่พอพระทัย ยังกริ้วหนักและทรงบ่นกับใครต่อใครว่าเสนาบดีนครบาลเป็นใจให้หม่อมของท่านหนี ดังนั้นแทนที่เรื่องจะจบ ก็เลยเกิดเป็นเรื่องใหญ่โตวุ่นวายยิ่งกว่าเดิมขึ้นมา

มาถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2453 บทละครเรื่องใหม่ของนฤมิตร์ พระนิพนธ์ในกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ที่จะไปแสดงถวายหน้าพระที่นั่ง มีชื่อว่า "ปักษีปะกรนัม เรื่องพญาระกา " เมื่อนิพนธ์เสร็จ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงนำไปให้กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอาภากร ต้นราชสกุล อาภากร ณ อยุธยา) เพื่อขอให้ทรงแต่งทำนองขับร้องให้ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงอ่านแล้วรู้สึกว่าเนื้อเรื่องพิกลๆ ก็ไม่ทรงรับทำ แต่ทรงคัดบทกลอนบางตอนไว้แล้วนำไปหารือกรมหลวงพระจักษ์ศิลปาคม (พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ ต้นราชสกุลทองใหญ่ ณ อยุธยา พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔) กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม อ่านแล้วก็นำไปถวายให้กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ อ่านบ้าง จึงกลายเป็นคดีความใหญ่โต ถึงขั้นกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์. ลาออกจากเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม พร้อมข้าราชการอัยการอีก 28 คน


ภายหลังเกิดคดีพญาระกาขึ้นในปี พ.ศ. 2452 - พ.ศ. 2453 ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงกระทำปัพพานิยกรรม ขับกรมหลวงประจักษ์ฯและพระโอรส-ธิดาออกจากพระราชสำนัก พระองค์เองทรงถูกห้ามมิให้เข้าเฝ้าในที่รโหฐาน ให้เฝ้าได้แต่ในท้องพระโรงหรือในที่มีผู้เฝ้าอยู่มากเท่านั้น ห้ามหม่อมเจ้าไศลทองโดยเฉพาะมิให้เข้าในเขตพระราชฐาน และห้ามหม่อมเจ้าหญิงชายอื่นๆในกรมหลวงประจักษ์ฯมิให้ขึ้นสู่พระราชมณเฑียร ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2453 เป็นต้นมาจนตลอดรัชกาลก็มิได้พ้นพระราชอาญาจนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สวรรคต

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม สิ้นพระชนม์ ณ วังตรอกสาเก เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2467 จากโรคอันตะ (ไส้ใหญ่ ) พิการ สิริพระชันษาได้ 67 ปี

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
"ศรีสุวรรณ"ปลุก ปชช. ค้านถมทะเลเอื้อ"เอ็กซอน โมบิล" ชี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ