หมอแนะ 6 วิธีง่ายๆ ควบคุมปริมาณไขมันในร่างกาย

by ThaiQuote, 29 สิงหาคม 2562

'ลดไขมันในเลือด' ไม่ใช่อดข้าวอย่างเดียว ชี้คอเลสเตอรอลสูงสาเหตุมาจากอาหารเพียง 20% สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมประจำวัน

นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ กล่าวว่า มีคนจำนวนหนึ่งมักจะกังวลทุกครั้งเมื่อตรวจเช็กร่างกายและแพทย์ระบุว่ามีไขมันสูง ด้วยสาเหตุหลักสองประการคือ จากการกินและการใช้ชีวิต เช่น การนอนหลับพักผ่อน เพราะไขมันในเลือดไม่ได้มีผู้ร้ายมาจากอาหารทั้งหมด แต่ที่จริงมีสาเหตุจากอาหารอยู่ที่ประมาณ 20% เท่านั้นซึ่งเรื่องนี้วารสารการแพทย์ของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด มีรายงานว่า คอเลสเตอรอลในเลือดเรามีสาเหตุมาจากอาหารเพียง 20% เท่านั้น นั่นแปลว่าส่วนใหญ่มาจากการใช้ชีวิตทุกเมื่อเชื่อวันของเรา

"เอาง่ายๆ ให้หลายท่านสังเกตว่าเราก็คุมอาหารอย่างหมอสั่งแต่เจาะเลือดก็ยังพบไขมันสูง เพราะอวัยวะที่ผลิตไขมัน 'คอเลสเตอรอล' เป็นหลักถึง 80% คือตับกับทางเดินอาหาร ดังนั้น การดูแลตับและคุมการบริโภคน้ำตาลกับโปรตีนให้ดีจึงมีส่วนช่วยควบคุมประชากรไขมันในเลือดให้เราได้มาก ซึ่งแม้บางครั้งเราจะบำรุงตับดีไปสักหน่อยด้วยการกินดีอยู่ดีตามที่ชอบจนทำให้เกิดภาวะไขมันแทรกตับ (Non-alcoholic fatty liver) แต่มันก็สามารถย้อนวัยตับกลับไปดีได้ด้วยการกินและวิถีชีวิตที่ไม่เพิ่มไขมันเช่นกัน" นพ.กฤษดา กล่าว

6 วิธีง่ายๆ เพื่อควบคุมปริมาณไขมันในร่างกาย

1) อย่ากลัวคอเลสเตอรอลจนเกินไป เพราะไขมันก็มีประโยชน์ เราอาจใช้วิธี "กินมันลดไขมัน" ได้ โดยการเลือกรับประทานไขมันดีที่มีมากในปลาทู ทูน่า แซลมอน หรือปลากระป๋องก็ยังได้ อีกทั้งยังมีน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ คาโนล่า น้ำมันมะพร้าว อะโวคาโด และบรรดาพืชน้ำมันต่างๆ รวมถึงไข่แดงที่หลายท่านกลัวก็ยังคงรับประทานได้ในปริมาณที่เหมาะสม เพราะมันช่วยสมองกับกระดูกของเรามาก

2) ให้ระวังไขมันทรานส์ดีกว่า อย่าลืมว่าไขมันที่ร้ายไม่ใช่ไขมันอิ่มตัวเสมอไปแต่เป็นไขมันในรูป "ทรานส์" ที่ทำให้เพิ่มคอเลสเตอรอลแอลดีแอลในร่างกายแต่ไปกดไขมันดีอย่างเอชดีแอลให้ต่ำลง ซึ่งไขมันทรานส์มีมากในเนยเทียม คุกกี้ แครกเกอร์ วิปครีม มันฝรั่งทอด โดนัท และเบเกอรี่อีกหลายชนิด

3) อย่าอดนอนหรือนอนมากไป มีการศึกษาตีพิมพ์ในวารสาร Sleep ว่าสุภาพสตรีที่นอนหลับน้อยกว่า 5 ชั่วโมงต่อคืน และที่นอนมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อคืนนั้น พบว่า มีระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์สูงและไขมันดีตกต่ำ นอกจากนั้น นักวิจัยยังพบว่าการกรน ยังสัมพันธ์กับระดับของไขมันดีที่ต่ำลงด้วย แต่ขอเสริมไว้ว่าอย่ากินมื้อดึกด้วย

4) ให้ใส่ใจเลี่ยงน้ำตาล โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่ฉลากบอกว่ามีฟรุกโตส ซูโครส หรือ HFCS (High-Fructose Corn Syrup) เพราะมันอาจเป็นความเสี่ยงใหญ่หลวงต่อการเกิด "ไขมันแทรกตับ (Non-alcoholic fatty liver disease)" ที่หลายท่านเรียกว่ามันพอกตับ ซึ่งที่จริงแล้วแนวทางปฏิบัติด้านโภชนาการแนะว่าถ้าลดการเพิ่มน้ำตาลลงได้เพียง 5% ของพลังงานทั้งหมดต่อวันก็จะช่วยลดความชุกของไขมันแทรกตับและผลร้ายตามมาของมันได้

5) โปรดเลี่ยงเมรัย ขอให้ใส่ใจเรื่องแอลกอฮอล์ด้วย เพราะจะช่วยคุมคอเลสเตอรอลได้ เพราะแอลกอฮอล์ที่บริโภคเข้าไปทำให้ร่างกายได้แคลอรีเพิ่มซึ่งอาจเปลี่ยนเป็นน้ำหนักตัวหรือภาวะลงพุง ที่นำมฤตยูมาอยู่ใกล้ตัวขึ้น การที่น้ำหนักตัวเพิ่มสามารถแกล้งให้ค่าคอเลสเตอรอลแอลดีแอลสูงขึ้นได้ ในขณะที่ทำให้ไขมันดีต่ำลง อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจกับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์จุกตับได้อีก

6) ให้เจาะเลือดตรวจไขมัน โดยสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association,AHA) ได้แนะนำไว้ว่าผู้ใหญ่ทุกคนที่มีวัยตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรองภาวะไขมันสูงอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งผู้ที่มีความเสี่ยงไขมันสูงควรต้องได้รับการตรวจเช่นกัน ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ชายอายุตั้งแต่ 45 ปี หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป ผู้สูบบุหรี่ และผู้ที่มีประวัติไขมันสูงในครอบครัว

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
เคล็ด(ไม่)ลับลดไขมันส่วนเกิน ให้หุ่นสวยอย่างปลอดภัย