10 ขั้นตอน นวดบำบัดแผนไทย แก้โรคซึมเศร้า

by ThaiQuote, 2 กันยายน 2562

กรมสุขภาพจิต ชี้ "นวดไทย" สามารถเพิ่มประสิทธิภาพรักษาโรคซึมเศร้า ลดอาการซึมเศร้าของผู้ป่วยลงได้ 100% ทำให้ทุเลาสูงถึง 83.3% และไม่มีผลข้างเคียง

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น แต่ก็ยังถือว่าน้อยกว่าต่างประเทศ การรักษาโรคซึมเศร้าที่ผ่านมารักษาด้วยยา ซึ่งหากรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานานจะไม่ส่งผลดีต่อร่างกาย

“โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ จึงทำให้คนไทยเข้าใจว่าอาการของใจที่หดหู่เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่อาการป่วย และเชื่อว่าจะค่อย ๆ หายไปเอง จึงไม่ไปพบแพทย์ ทำให้อาการรุนแรงขึ้น การรักษาจึงมีความยุ่งยากขึ้น ทำให้อัตราหายทุเลาน้อยลง” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

ปัจจุบันนี้ทางกรมส่งเสริมสุขภาพจิตได้นำการนวดไทยมาบำบัดทำให้อาการซึมเศร้าของผู้ป่วยลดลงได้ร้อยละ 100 ผู้ป่วยหายทุเลาได้สูงถึงร้อยละ 83.3 การนวดด้วยแพทย์แผนไทยนี้จึงเป็นทางเลือกในการตัดวงจรการป่วยโรคซึมเศร้าในระดับที่ยังไม่รุนแรงให้หายหรือทุเลาตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะทำให้สามารถลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ได้เป็นอันมาก โดยกรมสุขภาพจิตจะเร่งขยายผลใช้ในชุมชนทั่วประเทศ

นพ.ประภาส อุครานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่นำเอาการนวดแผนไทยมาช่วยในการบำบัดโรคซึมเศร้ากล่าวว่า การวิจัยการนวดแผนไทยเพื่อรักษาโรคซึมเศร้านี้ ดำเนินการในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้าในระดับไม่รุนแรง – ปานกลาง เช่น อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ไม่ร่าเริง ท้อแท้ชีวิต แต่ยังไม่ถึงขึ้นมีอาการทางจิตเช่นหลงผิด ประสาทหลอน หูแว่ว รวม 26 คน โดยใช้ท่านวดที่รพ.ฯได้คิดค้นตามหลักวิชาการเรียกว่า พระศรีนวดแผนไทย (Prasri Massage Therapy) มีทั้งหมด 7 ขั้นตอน คือ 1. นวดพื้นฐานที่บ่า หลัง หัวไหล่ 2. นวดพื้นฐานที่โค้งส่วนคอ นวดศีรษะด้านหลัง และที่จุดจอมประสาท 3. นวดที่ศีรษะด้านหน้า ร่องริมฝีปากบน 4. นวดศีรษะ 5. นวดขาและเปิดประตูลมโดยใช้น้ำมัน 6. การนวดหลังโดยใช้น้ำมัน และ 7. นวดพื้นฐานที่แขนทั้งด้านในและด้านนอก และนวดมือโดยใช้น้ำมัน นวดครั้งละ 60 นาที นวดทุก 2-4 วัน ติดต่อกัน 5 ครั้ง

สำหรับการให้บริการนวดของโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ประกอบด้วย
1.การนวดแผนไทย (Thai Traditional Massage)ทำให้อารมณ์และจิตใจผ่อนคลาย ลดความเครียดวิตกกังวล ปวดศีรษะ รักษาภาวะซึมเศร้า ทำให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น พังผืด ยืดคลาย ลดอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
2.การนวดกดจุดสะท้อนเท้า (Reflexology) เป็นการนวดกดจุดเท้าเพื่อกระตุ้นระบบประสาท ปลายประสาทอย่างมีประสิทธิภาพ กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตและน้ำเหลือง ช่วยผ่อนคลายความเครียดและความหดหู่
3.ประคบสมุนไพร เป็นการประคบตัวด้วยสมุนไพรผสมผสานกับการนวดคลายกล้ามเนื้อ
4. การนวดน้ำมันระเหย (Aromatherapy Massage) การนวดตัวด้วยน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากสมุนไพรธรรมชาติ เพื่อผ่อนคลายระบบไหลเวียนช่วยปรับสมดุลด้านจิตใจคลายความวิตกกังวล
5.สมาธิบำบัด เป็นการผ่อนคลายความเครียดด้วยการทําสมาธิ ถือได้ว่าเป็นการผ่อนคลายที่ลึกซึ้งที่สุด สมาธิทําให้จิตใจสงบนิ่ง มีสติหยุดความคิดที่ฟุ้งซ่าน วิตกกังวล หรืออารมณ์ด้านลบทั้งหลาย เมื่อเราทําสมาธิจะรู้สึกสบายขึ้น
6.โยคะอาสนะ เป็นการบริหารกาย ลมหายใจ ( ปราณ ) และการผ่อนคลาย การฝึกโยคะก่อให้เกิดพลังของชีวิตและมีสมาธิหากได้ฝึกโยคะอาสนะ อย่างต่อเนื่อง จะทำให้ เป็นผู้ที่มีมีสุขภาพที่แข็งแรง จิตใจผ่องใสและเข้มแข็ง ถือเป็นการบำบัดโดยธรรมชาติอย่างแท้จริง
7.ฤษีดัดตน เป็นการออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ร่างกายทำให้การเคลื่อนไหวตามธรรมชาติของแขนหรือข้อต่อต่างๆเป็นไปอย่าคล่องแคล่ว การไหลเวียนของโลหิตดีข้น ต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บ ทำให้สุขภาพแข็งแรง
8. Relaxation Technique ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ / จินตนาการ /สุนทรียสนทนา
9.ยาสมุนไพร
10. การให้ความรู้ แนะนำ ปรึกษา สาธิตและสอนแสดงด้านการแพทย์แผนไทย

นพ.ประภาส กล่าวว่า เมื่อนวดครบขั้นตอนดังกล่าว พบว่าได้ผลเป็นที่พอใจมาก ผู้ป่วยรู้สึกสดชื่นขึ้น กระปรี้กระเปร่า จิตใจเบิกบาน ผ่อนคลาย ตัวที่เคยรู้สึกหนักอึ้งจะโล่งเบา กินข้าวได้มากขึ้น นอนหลับดีขึ้น ความรู้สึกไม่ดีกับตนเองลดลง ไม่มีผลข้างเคียงใดๆ โดยรพ.พระศรีมหาโพธิ์มีแผนจัดทำหลักสูตรอบรมพระศรีนวดแผนไทยเพื่อการบำบัดรักษาโรคซึมเศร้าสำหรับแพทย์แผนไทยที่อยู่ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล และทำเป็น YouTube สาธิตการนวดมุ่งหวังว่าจะทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในพื้นที่ต่างๆ ที่มีอาการระดับเล็กน้อยหายทุเลา ไม่ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มมากขึ้น

สำหรับสัญญาณของโรคซึมเศร้า จะมีอาการดังต่อไปนี้ 9 อาการหรือมากกว่า ได้แก่ 1. มีอารมณ์ซึมเศร้า หดหู่ หากเป็นเด็กและวัยรุ่นอาจมีอารมณ์หงุดหงิดก็ได้ 2. ความสนใจหรือความเพลินใจในกิจกรรมต่างๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก 3. น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมาก 4. นอนไม่หลับหรือหลับมากไป 5. กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง 6. อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง 7. รู้สึกตนเองไร้ค่า 8. สมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลใจไปหมด 9.คิดเรื่องการตาย คิดอยากตาย โดยต้องมีอาการในข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ และหากมีอาการนาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรพบแพทย์หรือปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน หรือปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี เพื่อให้ได้รับการรักษา