รู้จัก ‘หลุมหลบภัย’ เมืองพระประแดง ปัจจุบันไร้เหลียวแล

by ThaiQuote, 30 กันยายน 2562

ย้อนเวลากลับไปรู้จักโบราณสถาน ‘หลุมหลบภัย’ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ของพระประแดง

สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นหนึ่งในมหาสงครามที่อยู่ในความทรงจำ ในหลากแง่หลายมุมของประชากรและประเทศต่างๆ สำหรับประเทศไทยนั้น เรียกสงครามครั้งนั้นว่า มหาสงครามเอเชียบูรพา ภายใต้การรุกรานของจักรวรรดิญี่ปุ่น ที่โหมกำลังโจมตีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน เพื่อจะบุกเข้าโจมตีอินเดียต่อไป


กรุงเทพฯและปริมณฑลในเวลานั้น หลายจุดมีสิ่งที่เรียกว่า หลุมหลบภัย ที่ก่อสร้างเป็นลักษณะอาคาร เพื่อหลบการโจมตีทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตร ที่หมายจะทำลายกองทัพอักษะญี่ปุ่น


เมื่อเวลาผ่านกาลไป หลุมหลบภัย ค่อยๆเลือนหายไป จนในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ไม่รู้จักแล้ว

อำเภอพระประแดง ถือว่าเป็นหนึ่งในอำเภอใหญ่ของจังหวัดสมุทรปราการ ในตัวอำเภอ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าตัวตลาด มีที่หลบภัยอยู่ด้วยกัน 2 แห่ง ถูกสร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2484 ลักษณะตัวอาคารมีขนาด กว้าง 17.3 เมตร ลึก 4.60 เมตร มีความสูงภายใน 1.50 เมตร ความหนาของผนัง 0.60 เมตร ห้องด้านในสามารถจุคนได้ประมาณ 60 คน มีช่องระบายอากาศและช่องแสง ด้านบน 4 ช่อง


โดยที่หนึ่งคือบริเวณที่ทำการเทศบาลเมืองพระประแดง ปัจจุบันไม่เหลือเค้าใดๆที่เป็นโครงสร้างให้เห็น อีกหนึ่งจุดจะอยู่ฝั่งตรงข้ามที่ว่าการอำเภอพระประแดง ต้นถนนเพชรหึงษ์ ปัจจุบันเรียกว่าท่ารถบางกอบัว


ฝั่งตรงข้ามท่ารถแห่งนี้ คือหลุมหลบภัยที่ยังเหลือ หนึ่งเดียวของที่นี่ สภาพในปัจจุบันเรียกได้ว่า ไร้การเหลียวแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวอาคารทรุดโทรมอย่างหนัก ทางเข้าภายใน ด้วยตัวถนนที่ยกสูงขึ้น ทำให้ถนนปิดประตูไปครึ่งหนึ่ง ด้านในน้ำท่วมขังและเต็มไปด้วยขยะ ป้ายที่เขียนว่า หลุมหลบภัย จุ 100 คน หลุดร่อน ลางเลือน และหากไม่พยายามมองหา แทบจะไม่สามารถมองเห็นได้


ด้านบน มีบนไม้และหญ้าขึ้นรกครึ้ม แต่ยังพบค้นหาช่องระบายอากาศได้
น่าเสียดายที่แหล่งประวัติศาสตร์เชิงเกร็ดประวัติหลายแห่ง กำลังจะหายไปอย่างไร้ความหมาย....


ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
อัศจรรย์! บ่อน้ำโบราณ สมัย ร.5 โผล่ รับ รมว."บิ๊กตู่"