“ศก.พอเพียง” กับการพัฒนาสู่ความยั่งยืนของสหกรณ์ทั่วปท.

by ThaiQuote, 27 ตุลาคม 2560

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหนึ่งในพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานไว้ให้ประชาชนคนไทยได้น้อมนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต ยึดหลักความพอเหมาะพอดี มีเหตุมีผลและไม่ประมาท ทรงใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่าง  ๆ ให้กับประชาชนคนไทย ในหลายยุคหลายสมัย ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนสามารถผ่านพ้นวิกฤติต่าง ๆ ไปได้อย่างราบรื่น และทรงชี้แนะแนวทางให้ทุกคนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยยึดหลักการดำเนินชีวิตในทางสายกลาง กรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริดังกล่าวมาเป็นแนวทางในการส่งเสริมการดำเนินงานของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร โดยมุ่งมั่นที่จะสานต่องานขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ตั้งแต่ปี 2551 ถึงปัจจุบัน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรนำแนวทางตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานและเพื่อให้สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมีการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้คัดเลือกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่มีความสมัครใจเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินงานของสหกรณ์และถ่ายทอดแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงสู่สมาชิกของสหกรณ์ จากนั้นได้ดำเนินการสรรหาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรต้นแบบที่มี                  การดำเนินงานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในด้านของความพอประมาณ ความมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน  จังหวัดละ 1 แห่ง การขยายผลการนำแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้ครอบคลุมสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ ในแต่ละปี กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินการจัดประกวดผลงานการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร แต่งตั้งคณะกรรมการตั้งแต่ระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศในการร่วมกันพิจารณาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่นำแนวคิดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการบริหารสหกรณ์ได้ อย่างโดดเด่น รวมถึงมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกสหกรณ์มีการนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ ทั้งในด้านการพัฒนาอาชีพและการดำเนินชีวิต ซึ่งปัจจุบันมีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่มีผลงานดีเด่นการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 80 แห่ง กระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศ ซึ่งกรมฯจะได้นำแนวทางและรูปแบบวิธีการดำเนินงานของสหกรณ์เหล่านี้ไปขยายผลเป็นตัวอย่างให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรอื่น ๆ ได้ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานต่อไป นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดของพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย จึงได้จัดทำโครงการ 5 ประสานสืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง ปี 2560 เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีความสมัครใจจาก 882 อำเภอ จำนวน 70,000 ราย ได้น้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองอย่างเหมาะสม ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ของเกษตรกรตามภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่  โดยมุ่งหวังจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ รู้จักวางแผนเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน โดยการสร้างอาชีพอย่างเหมาะสมกับทรัพยากรและปัจจัยการผลิตที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า และในปี 2561 จะขยายผลรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมอีก 70,000 ราย รวมเป็น 14,000 ราย เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมกันวางแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานในปี 2561 อย่างต่อเนื่องและเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์รับผิดชอบในการถ่ายทอดความรู้ทฤษฎีใหม่ให้กับสมาชิกสหกรณ์จำนวน 5,406  ราย ใน 73 จังหวัด เน้นในเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่การเกษตร ทั้งในเรื่องแหล่งน้ำ ดิน พืช และจัดทำบัญชีครัวเรือน รู้จักการวางแผนการใช้จ่าย เพื่อจะได้ลดต้นทุนการผลิตได้ ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้องมีการวางแผนการผลิตอย่างต่อเนื่องตลอดปี เมื่อผลผลิตออกมาจะนำมาบริโภคภายในครัวเรือน เมื่อเหลือจากการบริโภคจึงนำไปจำหน่ายในชุมชน พร้อมกันนี้  ทุกจังหวัดยังได้นำสมาชิกสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ เดินทางไปศึกษาดูงานเกษตรกรตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จจากการนำแนวคิดทฤษฎีใหม่ไปใช้ในการประกอบอาชีพในพื้นที่ต่าง  ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากเกษตรกรตัวอย่างไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพของตนเองได้ในที่สุด อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์  กล่าวว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์มีความตั้งใจที่จะนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางและเป้าหมายของการพัฒนาสหกรณ์ เริ่มจากการสร้างความเข้าใจกับสหกรณ์ว่า สหกรณ์นั้นจะต้องไม่มีความเสี่ยงในการดำเนินงาน ไม่มีเรื่องทุจริต และต้องพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ รวมถึงดูแลความเป็นอยู่ ตอบสนองความต้องการและดูแลประโยชน์ของสมาชิกเป็นหลัก อย่าทำเพื่อธุรกิจหรือผลกำไรของสหกรณ์เท่านั้น กรมฯจึงอยากเน้นให้สหกรณ์หันกลับมามองสมาชิก เอาธุรกิจสหกรณ์มาช่วยเหลือดูแลส่งเสริมอาชีพและความเป็นอยู่ของสมาชิก ให้มีความอยู่ดีกินดีตามเจตนารมณ์ของการตั้งสหกรณ์ในครั้งแรก ซึ่งจะส่งผลทำให้สหกรณ์เดินหน้าต่อไปและอยู่ได้อย่างเข้มแข็งและมั่นคง “ จากนี้เรามองว่าสหกรณ์จะต้องบริหารภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะปัจจุบันหลายสหกรณ์  ไม่ยั่งยืนและต้องปิดตัวลงเพราะไม่ได้ดำเนินงานตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บางแห่งก็ทำธุรกิจไปแบบ ไม่สมเหตุสมผลไม่มีภูมิคุ้มกันอะไร วันนี้เราจะหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนงานต่อไป ที่ผ่านมา กรมฯมีความกังวลในเรื่องความยั่งยืนของสหกรณ์ ว่าสหกรณ์แต่ละแห่งนั้นดำเนินธุรกิจสมเหตุสมผลหรือไม่ การลงทุนของสหกรณ์อยู่ในระดับใด เหมาะกับสถานะของสหกรณ์หรือไม่อย่างไร ตอนนี้สหกรณ์บางแห่งเติบโตเหมือนเป็นบริษัทขนาดใหญ่แต่โตแบบไร้ทิศทาง  และลืมที่จะดูแลสมาชิกของตนเอง ซึ่งกรมฯเกรงว่าจะเกิดความเสี่ยงในการดำเนินงานได้ แต่ถ้าเราหันกลับมาใช้ ศาสตร์พระราชา น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินงานสหกรณ์ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้าง           ความยั่งยืนแก่สหกรณ์ได้ในที่สุด เนื่องจากหลักสหกรณ์กับเศรษฐกิจพอเพียงคล้ายคลึงกันคือเรื่องการพึ่งพาตนเองและบริหารจัดการตนเองเพื่อให้เกิดความอยู่รอด สหกรณ์ต้องบริหารจัดการตนเองให้อยู่รอด ต้องใช้หลักมีเหตุมีผล ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาใช้เป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ สหกรณ์จึงจะสามารถเจริญก้าวหน้าและเติบโตอย่างมั่นคงได้ในที่สุด” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว ความเจริญก้าวหน้าของสหกรณ์จะเกิดขึ้นได้จากความร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่าย ทั้งคณะกรรมการดำเนินงานของสหกรณ์ สมาชิกสหกรณ์และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่จะมีส่วนในการเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ให้กับสหกรณ์และสมาชิก สิ่งสำคัญคือสหกรณ์ต้องรู้จักตัวตนของตนเองว่าเป้าหมายของการก่อกำเนิดขึ้นมาในครั้งแรก คือการช่วยเหลือดูแลความเป็นอยู่ของสมาชิกให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีอาชีพที่มั่นคง และควรยึดหลักการดำเนินงานสายกลาง ความมีเหตุมีผล ความเหมาะสมพอประมาณ และรู้จักนำความรู้วิชาการด้านต่าง ๆ มาปรับใช้ในพัฒนาการดำเนินงานของสหกรณ์ให้เจริญก้าวหน้า ตามแนวทางของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานไว้แก่ปวงชนชาวไทยได้ร่วมสานต่อจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานสืบไป  

Tag :