เปิดสอนนวัตกรรมฯ แบบทำจริงให้เด็กปี 1 ทุกคน ม.หอการค้าไทยฯ ต่อยอดปั้น SME 4.0

by ThaiQuote, 12 พฤศจิกายน 2560

ดร. เอ็ดเวิร์ด รูเบช ผู้อำนวยการหลักสูตรการสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม กล่าวว่า “ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทย ที่เปิดสอน จัดการเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based learningวิชาการประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม สำหรับนักศึกษาปี 1 ทุกคน) เพื่อปูทักษะพื้นฐานสำคัญของการเป็นผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เน้นบูรณาการโดยตั้งต้นจาก Step 0 ซึ่งเป็นการนำกระบวนการคิดแบบ Design Thinking มาใช้เพื่อทำความเข้าใจปัญหาก่อนจะก้าวสู่ขั้นตอนต่อๆ ไปในการพัฒนาธุรกิจ โดยวัดผลจากความพยายามในการทำโครงงานและการพัฒนาการของทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งจะไม่มีการวัดผลจากการสอบ “การเป็นผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น เป้าหมายหลักของวิชานี้จึงเป็นการให้โอกาสนักศึกษาทุกคนได้ลอง ได้เรียนรู้แนวคิดและทักษะของการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ในศาสตร์อื่นๆ ที่นักศึกษาเลือกเรียน และอาชีพที่จะเป็นในอนาคต เราหวังว่าจะมีนักศึกษาส่วนหนึ่งที่ต้องการต่อยอดโปรเจคในห้องเรียนให้กลายเป็นธุรกิจจริง นักศึกษาเหล่านั้นจะได้เข้าโครงการบ่มเพาะเพื่อพัฒนาศักยภาพให้เป็นผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมต่อไป” ด้าน ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยมุ่งมั่นที่จะสร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่สามารถก้าวสู่ระดับนานาชาติได้ จึงได้นำหลักสูตร 24 ขั้นตอนการสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม จาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก มาปรับเป็นแกนหลักของวิชาเรียนพื้นฐานในชั้นปีที่ 1 โดยเริ่มจากขั้นตอนแรกที่มหาวิทยาลัยฯเรียกว่า Step 0 ซึ่งเป็นกระบวนการของการค้นหา (Explore) และการทดลอง (Experiment) และเป็นส่วนเดียวกับกระบวนการคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking เพื่อกระตุ้นให้นักศึกษามองเห็นและเข้าใจปัญหาหรือโอกาส ที่ผู้ประกอบการสามารถสร้างสรรค์ธุรกิจที่สามารถแก้ปัญหาให้กับกลุ่มเป้าหมายได้” การเรียนการสอนของวิชานี้เปลี่ยนภาพบรรยากาศจากการเรียนแบบฟังบรรยาย มาเน้นการมีส่วนร่วมและลงมือทำจริงตั้งแต่ Step 0 โดยนักศึกษาได้รับโจทย์ให้ออกไปสำรวจชุมชนห้วยขวางและดินแดง ใกล้ๆ กับมหาวิทยาลัยฯ เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกทักษะที่สำคัญของการเป็นผู้ประกอบการ เช่น การสังเกต การสำรวจการตั้งคำถาม การสัมภาษณ์ การรวบรวมข้อมูล รวมไปถึงการทดลอง เพื่อให้นักศึกษาได้รู้จักกลุ่มเป้าหมาย และเข้าใจพฤติกรรมและวิถีชีวิตของชุมชนอย่างลึกซึ้ง จนกระทั่งทำให้มองเห็นถึงความต้องการหรือปัญหา ซึ่งถือได้ว่าเป็นการนำกระบวนการของ Design Thinking มาเชื่อมโยงกับ 24 ขั้นตอนจาก MIT ทำให้กลายเป็นความคิดและโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการ “วิชานี้ทำงานเป็นกลุ่มทั้งในและนอกห้องเรียน ตอนแรกไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องออกไปสำรวจพื้นที่บริเวณห้วยขวางและพูดคุยกับคนในชุมชนทุกๆ สัปดาห์ แต่การได้ไปในพื้นที่และได้พูดคุยบ่อยๆ ทำให้เกิดความคุ้นเคยและเริ่มเข้าใจคนในชุมชนมากขึ้น เริ่มสังเกตเห็นแล้วว่าพวกเขามีปัญหาอะไร ต้องการอะไร ช่วงนี้กลุ่มเรากำลังลองออกแบบผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่จะช่วยแก้ปัญหาขยะในชุมชน” โดย นักศึกษาจะถูกประเมินประสิทธิผลการเรียนจากความพยายาม พัฒนาการ รวมถึงการนำเสนอไอเดียทางธุรกิจ ซึ่งจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2560 ณ อาคาร 5 ชั้น 2 โดยมีทั้งอาจารย์และผู้ประกอบการตัวจริงที่ตลอดภาคการศึกษาทำหน้าเป็นโค้ชกระตุ้นให้นักศึกษาฝึกทำงานเป็นกลุ่ม ช่วยกันคิด ตั้งคำถาม และหาคำตอบ เข้าร่วมตัดสินไอเดียธุรกิจของนักศึกษา ซึ่งจะไม่มีการสอบวัดผลในวิชานี้

Tag :