นายกฯ แจงเหตุ “ยางราคาตก” พร้อมแนวทางแก้ไข

by ThaiQuote, 18 พฤศจิกายน 2560

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 ว่า  ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือราคา “ยางพารา” ที่ตกต่ำ ซึ่งเราจำเป็นต้องทำความเข้าใจในภาพรวม เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาไปในแนวทางที่จะร่วมมือกันได้ เรื่องที่ 1. คือประเด็นราคายางธรรมชาติ และยางสังเคราะห์ มีความเกี่ยวโยงกับมากมาย กับสถานการณ์หลายอย่าง เช่นราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งสะท้อนต้นทุนการผลิตยางสังเคราะห์ สามารถใช้ทดแทนยางธรรมชาติได้  เช่น ช่วงในปี 2540 ถึง 2548 น้ำมันราคาแพง ทำให้ราคายางสังเคราะห์แพงตามไปด้วย ส่งผลให้หลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย หันไปส่งเสริมให้ปลูกยางพาราในประเทศ เพื่อลดการนำเข้ายางสังเคราะห์ แต่พอราคาน้ำมันลด ราคายางสังเคราะห์ก็ลดตาม แต่ปริมาณยางธรรมชาติยังคงมาก และเกินความต้องการของตลาด เพราะหันไปใช้ยางสังเคราะห์ ทำให้ราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นระยะๆ เรื่องที่ 2. คือปริมาณการผลิตยางพาราซึ่งมีจำนวนมาก เกิดสภาวะล้นตลาด สืบเนื่องจากข้อแรก ทำให้ผลผลิตในช่วงปัจจุบันนั้นมีจำนวนมาก เกิดความไม่สมดุลกัน ที่สำคัญเกษตรกรสวนยางไทยนั้น เน้นปลูกยางเป็น “พืชเชิงเดี่ยว” มาก ทำให้เมื่อราคายางผันผวน ก็จะมีผลกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนอย่างรุนแรง เหมือนเช่นในปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ ในส่วนของประเทศอื่น เกษตรกรปลูกยางพารา โดยมี“พืชทางเลือก”  ควบคู่กับการปลูกยาง เช่น มาเลเซียก็มุ่งเน้นไปปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างปาล์มน้ำมัน 20 ถึง 30 ปีมาแล้ว ส่วนอินโดนีเซีย ทำเกษตรแบบยังชีพ ทำประมงควบคู่ไปด้วย หรือทำอาชีพอื่นไปด้วย เสริมกับการมีผลผลิตจากยาง เป็นรายได้ของเขา เมื่อราคายางลดลง ผู้ปลูกยางในประเทศเหล่านี้ ก็จะชะลอการกรีดยางแล้วหันไปประกอบอาชีพอื่นเพื่อหารายได้เข้ามาแทน โดยมีรายได้จากยางเป็นรายได้เสริม เรื่องที่ 3. การใช้ยางพาราในประเทศน้อยลง ประเทศไทยผลิตยางพารา ถึง 4.47 ล้านตัน มีการใช้ยางพาราในประเทศเพียง 0.60 ล้านตัน ที่เหลือส่งออก ทำให้ราคายางพาราต้องอิงกับราคาตลาดโลก ที่มีความผันผวนตามความต้องการ และผูกโยงกับราคาน้ำมัน เพิ่มความซับซ้อน จนไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด ถึงแม้ว่าประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ถือว่าเป็นประเทศผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลก มีพื้นที่กรีดยางพารารวมกัน 50.23 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 62.09 ของเนื้อที่กรีดยางพาราของโลก มีผลผลิตรวม 8.56 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 63.27 ของผลผลิตโลกก็ตาม เรื่องที่ 4. ความไม่เหมาะสมของพื้นที่ปลูกยางพารา ในปี 2559ประเทศไทยมีพื้นที่กรีดยางราว 20 ล้านไร่ โดยเฉลี่ยอัตราผลผลิต ประมาณ 225 ถึง 245 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่พื้นที่กรีดยาง ภาคเหนือให้ผลผลิตเฉลี่ยต่ำสุด คือ 143 กิโลกรัมต่อไร่ และภาคอีสานให้ผลผลิตเพียง 185 กิโลกรัมต่อไร่ เนื่องจากอากาศ ปริมาณน้ำ และสภาพดิน ไม่เหมาะกับการปลูกยางพารา ที่ต้องการอากาศร้อนชื้น และฝนตกชุก เหมือนภาคใต้ ทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย อีกทั้งปัญหาค่าขนส่งผลิตภัณฑ์ยางมาสู่ตลาดกลาง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ภาคใต้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนของเกษตรกรสวนยางที่ต้องเพิ่มขึ้นอีกด้วย ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหา ของยางพาราของรัฐบาลนี้ ในระยะยาว เพื่อความยั่งยืนคือ...
  1. ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางมีการประกอบอาชีพเสริม เช่น เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน การปลูกพืชแซม เช่น ไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ที่เหมาะสมกับตลาดท้องถิ่นของตนเอง การทำปศุสัตว์ และประมง ควบคู่ไปกับการทำสวนยาง เพื่อให้มีรายได้ที่หลากหลายเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและกระจายความเสี่ยง ลดการพึ่งพารายได้จากการทำสวนยางแต่เพียงอย่างเดียว อาทิเช่น รัฐบาลนี้ให้มีการสนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย สำหรับประกอบอาชีพเสริม เป็นต้น
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีชาวสวนยางประกอบอาชีพเสริมประมาณ 380,000 ราย และในปี 2560 มีชาวสวนยางหันมาทำเกษตรแบบผสมผสานมากขึ้น อีกกว่า 3,000 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 ของจำนวนเกษตรกรทั้งหมดที่โค่นยางแล้วปลูกในปีนี้ยังไม่พอ ต้องมากกว่านี้ แล้วรัฐบาลก็จะได้สามารถส่งเสริมเรื่องการตลาดให้ด้วย
  1. สนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ รัฐก็จะชดเชยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ให้แก่สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการ ในการดำเนินธุรกิจแปรรูปยาง ทั้งเป็นเงินทุนหมุนเวียน การปรับปรุงอาคาร การจัดหาเครื่องจักร อุปกรณ์สมัยใหม่ เพื่อพัฒนาศักยภาพในการส่งออกและแปรรูปยางในอนาคต
  2. ส่งเสริมให้มีการใช้ยางพาราเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางภายในประเทศให้มากขึ้น รวมทั้งได้มอบหมายให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นด้วย เช่น การสร้างถนน ลานกีฬา ถุงมือยาง และอื่นๆ เป็นต้น
  3. ควบคุมและลดพื้นที่ปลูกยางพาราให้เหมาะสม โดยลดพื้นที่ปลูกยางลงให้ได้ มีเป้าหมายปีละ 4 แสนไร่ แต่ทดแทนด้วยการปลูกพืชอื่น เพื่อจำกัดปริมาณผลผลิตให้มีความสมดุลกับความต้องการใช้
ทั้งนี้ปัจจุบันเราสามารถลดพื้นที่ปลูกได้แล้ว 1.19 ล้านไร่ สามารถลดผลผลิตได้ 0.27 ล้านตัน จะเห็นว่ายังลดได้น้อยมาก ซึ่งจะต้องเริ่มจากเน้นการลดพื้นที่ปลูกยางที่ไม่เหมาะสมในบางพื้นที่ พื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งก็คงมีปัญหาทั้งปริมาณน้ำ ระบบชลประทาน และการขนส่ง ที่ล้วนแต่มีต้นทุนสูง หรือพื้นที่ๆ ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ซึ่งมีกว่า 2 ล้านไร่
  1. จัดตั้ง “การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)” ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ได้มีการยุบรวม 3 หน่วยงาน คือ สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร, สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง และองค์การสวนยาง เข้าด้วยกัน มีภารกิจในการจัดทำยุทธศาสตร์สำหรับการบริหารจัดการยางของประเทศแบบครบวงจรให้มีประสิทธิภาพ
  2. ความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตยางพาราที่สำคัญของโลก ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ผ่านสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (ITRC) มีมาตรการควบคุมอุปทานยาง (Supply Management Scheme : SMS) ให้อนาคตมีปริมาณการผลิตยางพาราของแต่ละประเทศในปริมาณที่เหมาะสม ต้องมีมาตรการในการควบคุมปริมาณการส่งออกยางพาราของประเทศสมาชิก (มาตรการ Agreed Export Tonnage Scheme : AETS) เหล่านี้เป็นต้น
อย่างไรก็ตามตนอยากให้ทุกฝ่ายในห่วงโซ่ของยางพาราไทย ได้มีความเข้าใจที่ตรงกัน ขอให้ทุกคนได้อดทน เปลี่ยนแปลง ไว้ใจซึ่งกันและกัน และมีหลักการและเหตุผล ตนไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของการเมือง ตนเข้าใจเศรษฐกิจสำคัญที่สุด ถ้าทุกคนทำสวนยาง เมื่อยางราคาไม่ดี คุณภาพชีวิตไม่ดี เพราะรายได้มีแต่ยางอย่างเดียว ต้องคิดใหม่ จะได้แก้ปัญหาได้ร่วมกัน ตามนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ทุกฝ่ายก็มีประโยชน์ร่วมกัน รัฐบาลก็ไม่มีข้อขัดแย้ง มีรายได้มากขึ้น ประชาชน เกษตรกรสวนยาง หรือเกษตรกรอื่นๆ ก็ต้องทำเช่นเดียวกัน
Tag :