อุตฯ เสื้อผ้าหันรักษ์โลก ยึดหลัก 3 R แปลงขยะเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง

by ThaiQuote, 29 เมษายน 2563

วงการสิ่งทอหันยึดหลัก 3 R ปลุกกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม แปลงวัสดุไร้ค่าให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง

 

การผลิตสินค้ามากเกินความจำเป็น เกินความต้องการของตลาด จนกลายเป็นของเหลือทิ้ง เป็นปัญหาสำคัญที่อุตสาหกรรมเสื้อผ้าต้องเผชิญอยู่ทุกๆ ปี อุตสาหกรรมเสื้อผ้า จำเป็นที่จะต้องกำหนดบทบาทตัวเองให้มีส่วนร่วมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือกระทั่งสร้างจุดขายที่ดึงดูดให้ผู้บริโภคให้ตระหนักถึงเรื่องนี้

ขณะที่ขั้นตอนการผลิตเสื้อผ้า นั้นถูกระบุว่า มีส่วนก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนจำนวนมหาศาล ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมสิ่งทอ คิดเป็น 10% ของคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งโลก มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตเนื้อวัวถึง 50% แต่ละปีอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสร้างมลพิษมากเป็นอันดับ 2 รองจากอุตสาหกรรมน้ำมันและทำให้เกิดขยะมากกว่า 10 ล้านตัน/ปี อีกทั้งยังต้องใช้พลังงานอย่างมากเพื่อการกำจัด

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเสื้อผ้ายังได้ชื่อว่า ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนโดยตรง ข้อมูลจาก สถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute) ระบุว่า เสื้อที่ทำจากผ้าฝ้าย 1 ตัว ต้องใช้น้ำในการปลูกฝ้ายถึง 2,700 ลิตร ซึ่งปริมาณน้ำปริมาณดังกล่าว เพียงพอให้คน 1 คน ใช้ได้ถึง 2 ปีครึ่ง

ทั้งนี้ มีการประเมินกันว่า การผลิตสิ่งทอใช้น้ำถึงประมาณ 93 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีเลยทีเดียว ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมเสื้อผ้า ยังถูกมองด้วยว่า เป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยน้ำที่มีสารเคมีอันตรายเข้าสู่สิ่งแวดล้อม มีการประเมินว่ากิจกรรมย้อมสี ปล่อยมลพิษทางน้ำราว 20 เปอร์เซ็นต์ ของอุตสาหกรรมทั่วโลก และปล่อยพลาสติกลงสู่มหาสมุทร การซักล้างทำความสะอาดได้ปล่อยไมโครไฟเบอร์สู่แหล่งน้ำและทะเล เป็นไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ประมาณกันว่าในแต่ละปี การซักล้างเสื้อผ้าใยสังเคราะห์ เช่น โพลีเอสเตอร์ ไนลอน หรืออะครีลิก ปล่อยไมโครไฟเบอร์ราว 5 แสนตันลงสู่มหาสมุทรทั่วโลกด้วย

วัชรีพร พัฒนธัญญา ผู้จัดการทั่วไปของ บริษัท Rock The Boat Co., Ltd บริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้าตามแนวคิดแบบ เศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งยึดแนวปฏิบัติ 3 R คือ Reduce ลดการใช้ Reuse นำกลับมาใช้ใหม่Recycle แปรรูปวัสดุใช้แล้ว ให้กลับมาเป็นวัสดุใหม่ ระบุว่า บริษัทเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มทั่วโลกต่างตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว และพยายามหาทางออก นอกจากผลิตสินค้าตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน แล้วยังสามารถสร้างเทรนด์ใหม่ๆ จนกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาใช้สินค้าที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

ปัจจุบันวงการเสื้อผ้า ได้พัฒนาตัวเอง โดยหาแนวทางในการจัดการทรัพยากรที่ใช้แล้ว หมุนเวียนกลับมาใช้ให้เป็นวัสดุใหม่หรือสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ จนเกิดศัพท์ใหม่ ของอุตสาหกรรมนี้ คือ Upcycling หรือการแปลงวัสดุที่ไม่มีมูลค่าให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง การ Upcycling เป็นส่วนหนึ่งของการ รีไซเคิล แต่พยายามข้ามข้อจำกัดของรีไซเคิลซึ่งมักจะทำให้คุณภาพสินค้าด้อยลง

การ Upcycling จึงเป็นการนำวัสดุที่ผ่านการใช้งานกลับมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตใหม่ โดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพดีขึ้น รวมถึง ใช้ทั้งวัสดุรีไซเคิลประเภทต่าง ๆ มาเป็นส่วนประกอบสินค้าเช่น นำพลาสติกใช้แล้วทิ้งมาผลิตเป็นเส้นใยเสื้อผ้า นำเสื้อกันหนาวที่ผลิตจากหนังสัตว์มาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ เช่น กระเป๋า รองเท้า

“มีรายงานว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ของสิ่งทอทั้งหมด ถูกนำไปใช้ผลิตเสื้อผ้า ขณะที่ เสื้อผ้าเก่าซึ่งถูกนำไปรีไซเคิลเป็นเสื้อผ้าใหม่ มีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของเสื้อผ้าทั้งหมด ก็ยังถือว่าได้รับความนิยมอยู่ในวงจำกัด แต่ก็ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง ปัจจุบันเสื้อผ้ารีไซเคิลไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การนำเสื้อผ้าเก่ามาเย็บใหม่ แต่พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองขึ้น จนแยกแทบไม่ออก ว่าเป็นเสื้อผ้าใหม่หรือรีไซเคิลแล้วด้วยซ้ำไป ” วัชรีพร กล่าวในท้ายสุด

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

92 เที่ยวบินในประเทศพร้อมแล้ว ดอนเมืองพร้อมปล่อยเครื่องบิน 1 พ.ค.นี้

“อุตตม” ปลุกคนไทย ปรับตัวสู่ “New Normal” ฟื้นคืนเศรษฐกิจฐานราก