“ถ้ำนาคา” จากเมืองบังบด สู่ แหล่งท่องเที่ยวใหม่ บึงกาฬ

by ThaiQuote, 29 พฤษภาคม 2563

“ถ้ำนาคา” สถานที่ลี้ลับ อุทยานแห่งชาติภูลังกา จากเมืองบังบด ตามกัณฑ์เทศน์ “หลวงตามหาบัว” จุดปฏิบัติธรรมพระป่า สู่แนวคิดการเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่จ.บึงกาฬ

 

กลายเป็นกระแสสนใจในชั่วข้ามคืน สำหรับ “ถ้ำนาคา” เมื่อเฟซบุ๊ค “Ord Thanawanij” ได้โพสต์ภาพของหินก้อนหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายเกล็ดงูซึ่งพบภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ พร้อมข้อความระบุว่า

 

 

“#ปริศนาธรรมบนภูลังกา อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ มีมากมาย ที่เก็บภาพมาฝากแค่เศษเสี้ยวจริงๆครับ

#ภาพเหล่านี้สุดแท้แต่คนเห็นจะมองเป็นแบบไหน เพราะมนุษย์ย่อมต่างจิต ต่างใจ ต่างบุญ ต่างบารมี ย่อมเห็นอะไรไม่เหมือนกันแน่นอน ส่วนตัวผมมองแบบไหน ต้องหลังไมค์คุยกันเอง “ภาพหนึ่งภาพ แต่คำบรรยายได้ 1000 คำ”

ทุกภาพผมถ่ายด้วยตัวเอง ถือเป็นลิขสิทธิ์ หากต้องการนำไปใช้เพื่อเผยแพร่ เป็นประโยชน์ สำหรับการท่องเที่ยวผมอนุญาตให้แชร์และนำไปใช้ได้ครับ ยกเว้นนำไปประกอบเพื่อการค้าและธุรกิจ ไม่อนุญาตครับ”

 

 

 

 

Thaiquote จึงได้มีโอกาสพูดคุยในแบบหลังไมค์ ตามที่ ธนวณิช ชัยชนะ ประธานเกษตรแปลงใหญ่ จ.บึงกาฬ ซึ่งเป็นเจ้าของเฟซบุ๊ก “Ord Thanawanij” ผู้ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกๆ ที่มีโอกาสได้สัมผัส “ถ้ำนาคา” ได้กล่าวไว้ในข้อความข้างต้น

“ก่อนหน้านี้ มีตำนานเรื่องของพญานาค ภูลังกา บึงโขลงหลง จากครูบาอาจารย์ในอดีต ทั้งหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ที่มักจะให้ลูกศิษย์สายพระป่ามาปฏิบัติธรรมบริเวณภูลังกา ซึ่งบริเวณนี้ หลวงตามหาบัว วัดป่าบ้านตาด ท่านได้เคยกล่าวถึงไว้ในกัณฑ์เทศนาของท่าน และท่านไม่ได้ปฏิเสธว่า ภูลังกา มีพญานาคและเมืองบังบดอยู่จริง

 

 

สาเหตุที่ผมได้มีโอกาสไปสถานที่แห่งนี้ เนื่องจากต้องทำงานชิ้นหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับพญานาค ให้กับหลวงพ่อทุย วัดป่าดานวิเวก อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ ประกอบกับเคยทราบมาว่ามีถ้ำแห่งหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับพญานาค ในพื้นที่บึงโขงหลง ซึ่งมีพระอาจารย์ท่านหนึ่งเป็นผู้ค้นพบ ” ธนวณิช เล่าถึงที่มาของการเดินทางเข้าไปยัง “ถ้ำนาคา”


ธนวณิช ได้บอกเล่าการเดินทางไป“ถ้ำนาคา” ว่า ใช้เวลาเดินจากเชิงเขาอีกฟาก ซึ่งเป็นน้ำตก ประมาณ 4.30 ชั่วโมง จนถึงบริเวณทางเข้าซึ่งตั้งอยู่บนลานหินกว้างของภูลังกา

 

 

“ภูลังกา เหมือนโต๊ะตัวหนึ่ง เราเดินขึ้นทางขาโต๊ะฝั่งขวา ซึ่งมีน้ำตกไหลลงมา มีน้ำใส สามารถดื่มกินได้ คนท้องถิ่นจะรู้ว่าน้ำที่มาจากน้ำตก คือ น้ำที่มีสมุนไพร บนภูลังกาถือเป็นพื้นที่มีสมุนไพรไทยอยู่มาก ใช้เวลาเดินประมาณ 4 ชั่วครึ่งจากขาโต๊ะฝั่งขวาไปยังฝั่งซ้าย มีทางเดินซึ่งเป็นบันไดลงไป หากมองจากภายนอกจะดูไม่ออกว่าข้างในมีถ้ำอยู่ จนพระอาจารย์วินิต สุเมโธ ซึ่งเป็นผู้นำทางได้อนุญาตและเดินนำเข้าไป” ธนวณิชเล่าถึงบรรยากาศของการเดินทาง

ลักษณะทั่วไปของ “ถ้ำนาคา” เป็นร่องหิน ระหว่างหิน 3 ก้อน ซึ่งตั้งวางในลักษณะ 3 เส้า เมื่อเดินผ่านเข้าไปหินก้อนแรกและก้อนที่ 2 มีลักษณะเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ธรรมดา แต่ความพิเศษอยู่ที่หินก้อนที่ 3

 

 

“เราเดินผ่านระหว่างซอกหิน 2 ก้อนแรก ซ้ายและขวา หินก้อนที่ 3 อยู่ด้านในสุด โดย 2 ก้อนแรกนั้นเป็นก้อนหินธรรมดา ส่วนก้อนที่ 3 นั้นมีลักษณะพิเศษคือ หัวของก้อนหินเป็นภาพซึ่งก็แล้วแต่คนจะตีความ ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละบุคคล ส่วนตัวผมเห็นคล้ายเป็นส่วนหัวของงู

ส่วนด้านข้างๆ เมื่อเดินเข้ามาอีกประมาณ 30 เมตร จะมีลักษณะเป็นเกล็ดคล้ายเกล็ดงู ขนดเป็นก้อนทั้งหมด ถือเป็นความแปลกและความอัศจรรย์ และหากเดินเข้าไปต่อก็จะพบหินในลักษณะเป็นก้อนเป็นเกล็ด ที่คล้ายกับก้อนที่ 3 อีกมาก ข้างในสุดก็จะเจอกับถ้ำ ซึ่งเป็นที่ปฏิบัติธรรมของพระธุดงค์” ธนวณิช บรรยายถึงลักษณะหินดังกล่าว

 

 

อาจบอกได้ว่า สถานที่แห่งนี้ เป็นสถานที่ซึ่งเกิดจากการสร้างสรรค์ได้อย่างอัศจรรย์ของธรรมชาติ เราจึงพูดคุยถึงเรื่องของความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่อีกแห่งหนึ่งของพื้นที่ จ.บึงกาฬ

“ก็ได้มีการพูดคุยกันเรื่องนี้ ล่าสุดผมได้มีโอกาสพูดคุยกับหัวอุทยานภูลังกา ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างก็เห็นด้วย เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนา จ.บึงกาฬ เรื่องอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ในส่วนของบึงโขงหลง มีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายที่สามารถเชื่อมโยงกันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

ด้วยลักษณะพิเศษของภูลังกาที่ไม่เหมือนใคร มีกลิ่นอายสถานที่ปฏิบัติธรรมของครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียง เป็นที่เคารพของคนไทยหลายๆท่าน ผสานกับตำนานของบึงโขงหลง” ธนวณิชบอกกับเราถึงทิศทางการพัฒนา “ถ้ำนาคา” เป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ของ จ.บึงกาฬ

 

ข่าวที่น่าสนใจ