นายกฯ เร่งหน่วยราชการ ใช้ยางพาราเพิ่ม 1 แสนตันด่วน

by ThaiQuote, 28 พฤศจิกายน 2560

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จังหวัดสงขลา ว่า มีกลุ่มภาคเอกชนเสนอ2-3 ประเด็น ประเด็นที่ 1 เขารับทราบว่าร่างพ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันอยู่ในกระบวนการ ซึ่งเขาบอกว่าได้ไปศึกษาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว เห็นว่าดี มีความชัดเจนทำให้ภาคเอกชนสามารถเดินไปได้อย่างมีคุณภาพ จึงอยากให้รัฐบาลเร่งรัดร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)บอกว่าไม่ต้องห่วงร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวรัฐบาลชุดนี้เป็นคนร่าง เมื่อเสร็จเรียบร้อยเราเดินตามนั้น แต่ในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกากับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ฉะนั้นถ้าเลยกระบวนการของเราไปแล้วเราจะไปเร่งรัดเขาไม่ได้ “เรื่องปัญหายางพารา นายกฯรู้สึกไม่สบายใจ โดยสั่งการให้หน่วยงานราชการจะต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยางอีก 1 แสนตัน ฉะนั้นแผนงานของกระทรวงจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องของการใช้ยางเป็นส่วนประกอบ ตลอดจนภาพรวมทั้งหมดจะต้องผลักดันให้การใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นอีก 50 เปอร์เซ็นต์ โดยจะต้องต้องทุกวิถีทางให้มีการใช้ยางมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่ต้องมีจุดคุ้มทุน ซึ่งจะขอดูผลสำเร็จโดยเร็วที่สุด” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว. พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า ปริมาณการผลิตยางในขณะนี้มีอยู่ 4.8-5 ล้านตัน แต่การใช้งานในประเทศอยู่ที่ 6-8 แสนตันเท่านั้น นายกรัฐมนตรีจึงสั่งการให้หน่วยงานแต่ละกระทรวง ทบวง กรม ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ยางให้ไปจัดทำ TOR จะต้องมีความชัดเจนเรื่องการใช้ยางเป็นส่วนประกอบ เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางและเป็นการยกระดับราคา ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีได้ให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงว่า เรื่องยางไม่สามารถกำหนดราคาได้แต่เพียงผู้เดียวเพราะปลูกกันทั่วโลกก็ต้องเข้าใจราคาของตลาดโลกด้วย และก็มีความสัมพันธ์กับราคาน้ำมันดิบ เพราะน้ำมันดิบเป็นต้นทุนของการทำยางเทียม เมื่อยางเทียมทำได้ในราคาถูก ยางแท้ที่ทำจากยางพาราก็ต้องถูกตามลงมาด้วย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สอบถามถึงการนำยางไปทำถนนในแต่ละจังหวัดนั้น ไปทำอย่างไรกันบ้าง ซึ่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาชี้แจงว่า เส้นทางที่ตนเองรับผิดชอบในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้คิดค้นสูตร ใน 2 กิโลเมตร จะใช้ยางมาเป็นส่วนผสมในการทำถนนประมาณ 45 ตัน คิดสนนราคายางกิโลกรัมละ 50 บาท หมายความว่าในการทำถนนระยะ 2 กิโลเมตร ต้นทุนจะสูงขึ้นประมาณ 2,250,000 บาทแต่ยืนยันว่าได้ผลดี เพราะถนนที่ทำไปแล้วผ่านมา 3 ปี ก็ยังอยู่ในสภาพที่ดี อย่างไรก็ตาม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ชี้แจงว่าได้คิดค้นสูตรแล้วพบว่าการทำถนนโดยใช้ยางพารา 2 ประเภท คือ ปูพื้นก่อนที่จะเอาแอสฟัลท์ลงผิวหน้า ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า จะทำยังไงก็ได้ขอให้คำนึงถึงเรื่องเดียวคือเงินที่เพิ่มขึ้นจากการนำยางพารามาเป็นส่วนผสม จะต้องมีมูลค่าไม่แพงไปกว่าการยืดอายุถนนนั้น เช่น เอายางพารามาใช้ 10 บาทยืดอายุใช้งานถนนได้ 2 ปี แบบนี้ถือว่าไม่คุ้ม จึงได้มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ไปหาจุดคุ้มทุนให้ได้ แต่ ณ เวลานี้ ทุกส่วนราชการต้องทำตามนโยบายการเพิ่มปริมาณการใช้ยางให้ได้ 1 แสนต้น ภาพรวมทั้งหมดต้องเพิ่มขึ้น 50% ทำทุกวิถีทางที่จะใช้ยางเป็นส่วนผสมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่ต้องมีจุดคุ้มทุน