วัคซีนสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

by ThaiQuote, 2 ธันวาคม 2560

  • วัคซีนป้องกันบาดทะยักคอตีบและไอกรน มีชื่อวัคซีนเป็นภาษาทางการแพทย์ว่า Tetanus toxoid, reduced diphtheria toxoid and acellular pertussis หรือ Tdap นั่นเอง (คนละตัวกับที่ฉีดในเด็ก)

สำหรับวัคซีนนี้เป็นวัคซีนรวมที่ป้องกันเชื้อ 3 ตัว ได้แก่

  1. บาดทะยัก ซึ่งเกิดจากพิษหรือ toxin ของเชื้อ Clostridium tetani ซึ่งหากได้รับเข้าไปแล้วจะทำให้เกิดอาการชักอย่างรุนแรงและเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทารกแรกเกิด
  2. คอตีบ ซึ่งเกิดจากเชื้อ Corynebacterium diphtheria ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนบนอย่างรุนแรง และอาจจะทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของหัวใจ นำไปสู่อาการหัวใจล้มเหลวได้ ติดต่อได้ง่ายทางการหายใจ
  3. ไอกรน เกิดจากเชื้อ Bordetella pertusis ทำให้มีอาการไอเป็นชุด และไอรุนแรงมาก ถ้าเด็กทารกเล็กๆ เป็นอาจจะทำให้เสียชีวิตได้ ในขณะที่ผู้ใหญ่มักมีอาการเล็กน้อยและมักไม่รู้ตัวว่าเป็น ติดต่อได้ง่ายทางการหายใจ ถ้าเด็กอายุน้อยกว่า 4 เดือนได้รับเชื้อ มีโอกาสเป็นรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ร้อยละ 1 ทีเดียว

  วัตถุประสงค์ของการให้วัคซีนตัวนี้ นอกจากจะสร้างภูมิคุ้มกันกับแม่แล้ว ยังคาดหวังว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นนี้จะสามารถส่งผ่านจากแม่ไปยังลูกได้ เพื่อให้ลูกมีภูมิคุ้มกันจากโรคเหล่านี้ ทั้งนี้แม้ทารกจะได้รับวัคซีนอยู่แล้ว แต่จะได้รับวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยักเข็มแรกเมื่ออายุ 2 เดือนขึ้นไป ทำให้ทารกอายุน้อยกว่านั้นมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อและเกิดอาการรุนแรง ในผู้ใหญ่ปกติแนะนำให้ฉีดวัคซีน Td (tetanus toxoid and reduced diphtheria toxoid) ทุก 10 ปี สำหรับคนที่ไม่เคยมีประวัติรับวัคซีน Td (tetanus toxoid and reduced diphtheria toxoid) มาก่อนแล้วตั้งครรภ์ จะแนะนำว่าควรให้ Td จนครบ 1 คอร์ส คือ ทั้งหมด 3 เข็ม โดยให้เข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 4 สัปดาห์ และเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มแรก 6-12 เดือน ทั้งนี้แนะนำว่า ควรฉีด_Tdap_แทน_Td 1 ครั้ง ช่วงอายุครรภ์ 27-36 สัปดาห์ เพราะเป็นช่วงที่ภูมิคุ้มกันของแม่จะส่งไปยังลูกได้ในระดับสูงกว่าช่วงอื่นๆ ถ้าหญิงตั้งครรภ์มีประวัติเคยรับ Td ครั้งสุดท้ายนานกว่า 10 ปี เป็นข้อบ่งชี้ให้ฉีดกระตุ้นบาดทะยัก 1 เข็ม แนะนำให้ฉีดเป็น Tdap แทนในช่วง 27-36 สัปดาห์เช่นกัน และหากไม่เคยได้รับ Tdap มาก่อน แนะนำให้ฉีด Tdap ทันทีหลังคลอด และแนะนำว่าควรให้ Tdap แก่ผู้ใหญ่ทุกคนในครอบครัวที่มีโอกาสใกล้ชิดหรือเลี้ยงดูทารกที่อายุน้อยกว่า 12 เดือน และไม่เคยได้รับ Tdap มาก่อน สำหรับวัคซีน Tdap ในประเทศไทย ยังคงเป็นวัคซีนที่อยู่นอกสิทธิการรักษา และผู้ป่วยที่ต้องการฉีดอาจจะต้องจ่ายเงินค่าวัคซีนเอง โดยราคาค่าวัคซีน เริ่มตั้งแต่ 500-1000 บาท แตกต่างกันไปในแต่ละที่ ทำให้ความทั่วถึงในการรับวัคซีนและประสิทธิภาพการควบคุมโรค โดยเฉพาะไอกรนในเด็กทารกแรกเกิดถึงสองเดือนของเรายังมีปัญหา ดังนั้นหากใครสนใจวัคซีน Tdap ลองสอบถามรายละเอีดยคุณหมอที่ฝากครรภ์หรือโรงพยาบาลที่ฝากครรภ์ได้ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อ influenza virus  เป็นโรคที่พบได้เรื่อยๆ และมีการระบาดของโรคเป็นบางช่วง มีเชื้อก่อโรคหลายร้อยสายพันธุ์ บางคนอาจจะรู้สึกเฉยๆ กับโรคนี้ แต่ถ้าหากคุณแม่ตั้งครรภ์ติดเชื้อขึ้นมา อาจจะทำให้อาการของโรคและภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาได้ ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์จึงเป็นกลุ่มที่ควรได้รับวัคซีนด้วย วัคซีนที่แนะนำในหญิงตั้งครรภ์ คือ วัคซีนที่เป็น inactivated vaccine ซึ่งจะได้รับจากการฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อ (ถ้าพ่นจมูกจะเป็นแบบ live attenuated influenza vaccine ไม่แนะนำให้ใช้) แนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้ในหญิงตั้งครรภ์ ในช่วงที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรค โดยในประเทศไทย มักจะระบาดในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว (ก็คือช่วงนี้นั่นเอง) และแนะนำให้ฉีดในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 (ตัววัคซีนไม่ได้มีผลต่อทารก แต่เพื่อความสบายใจและลดความกังวล จึงหลีกเลี่ยงช่วงไตรมาสแรกที่มีการสร้างอวัยวะ) ภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นจากการฉีดวัคซีนสามารถส่งผ่านไปยังลูกได้ประมาณหนึ่งด้วย วัคซีนที่จำเป็นจริงๆ สำหรับคนท้องจะมี 2 ตัวหลักๆ ส่วนตัวอื่นๆ แล้วแต่ข้อบ่งชี้และความจำเป็น ซึ่งต้องดูเป็นรายๆ ไปค่ะ ทั้งนี้ แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์   ที่มา : เพจใกล้มิตรชิดหมอ

Tag :